วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา


            หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาคือหนี้ประเภทใด  เมื่อเป็นหนี้ร่วมแล้วต้องร่วมรับผิดกันอย่างไร  ท่านผู้อ่านครับหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยานั้นจะเกิดขึ้นได้  สามีและภริยาในที่นี้ต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  คือ  ต้องจดทะเบียนสมรสกันก่อนแล้วจึงมาก่อหนี้ร่วมกัน  จึงจะเกิดเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  ส่วนการร่วมกันนั้นก็อาจจะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  หรือเป็นหนี้ที่สามี  หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  เช่นว่า 
๑)      หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน  หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  หนี้ที่เกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ภริยา หรือสามี  หนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว  หรือหนี้ที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
๒)    หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
๓)    หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
๔)    หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว  แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
หนี้ที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นหนี้ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  หรือเป็นหนี้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นในระหว่างสมรสนั้น  ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  กฎหมายบอกว่า  การชำระหนี้ต้องชำระเอาจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย  แต่ถ้าหากสามีหรือภริยาต้องรับผิดในหนี้นั้นเป็นการส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ตนก่อไว้ก่อนสมรส  หรือในระหว่างสมรส  กฎหมายบอกว่า  ให้เอาชำระจากสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน  หากไม่พอชำระหนี้จึงจะให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นขอฝ่ายนั้นก็คือฝ่ายที่ก่อหนี้นั่นเอง
ผู้เขียนมีคดีตัวอย่างอยู่เรื่องหนึ่งน่าสนใจมากและศาลได้มีคำพิพากษาไว้แล้ว  เกี่ยวกับหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  เรื่องนี้สามีไปกู้ยืมเงินเองเพียงฝ่ายเดียว  แต่ภริยากลับไปเจรจาขอผัดผ่อนการชำระหนี้กับสามีด้วย  จึงถือว่าภริยารู้เห็นและยินยอมให้สามีกู้ยืมเงินอันเป็นการให้สัตยาบัน 
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายแดงจดทะเบียนสมรสกับนางชมพู  ทั้งสองมีบ้านเป็นสินสมรสอยู่    หลัง  นายแดงได้เป็นหนี้เงินกู้นายหลากสี  และศาลได้มีคำพิพากษาให้นายแดงชำระหนี้นายหลากสีเป็นเงินจำนวน  ๖๐๐,๐๐๐  บาท  ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนี้ที่นายแดงได้ก่อนั้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  โดยในขณะที่นายแดงไปกู้ยืมเงินจากนายหลากสีนั้น นางชมพูไม่ได้ร่วมกู้  หรือร่วมอยู่ด้วยในวันทำสัญญา  แต่นางชมพูได้เคยพานายแดงไปบ้านของนายหลากสีหลายครั้งเพื่อขอเจรจาผัดผ่อนหนี้กับนายหลากสี  เมื่อนายแดงไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา  นายหลากสีจึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านของนายแดงออกขายทอดตลาด
นางชมพูภริยาของนายแดงทราบจึงยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ตนเป็นภริยาของนายแดงและเป็นเจ้าของรวมบ้านที่ถูกยึด  ไม่มีส่วนรู้เห็นในหนี้สินของนายแดง  ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านให้นางชมพูกึ่งหนึ่ง  นายหลากสีจึงได้ยื่นคำคัดค้านว่า  นางชมพูมิใช่ภริยาของนายแดง  บ้านที่ยึดนั้นเป็นบ้านของนายแดง  นางชมพูทราบดีอยู่แล้วว่านายแดงเป็นหนี้เงินกู้ยืมของนายหลากสี  นางชมพูจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วน
เรื่องนี้  ศาลบอกว่า  ประการแรก  นายแดงกู้เงินนายหลากสีในระหว่างที่นายแดงกับนางนางชมพูเป็นสามีภริยากัน  หนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นหนี้ในระหว่างสมรส
ประการที่สอง  ศาลบอกว่า  เมื่อเป็นหนี้ในระหว่างสมรสแล้ว  แม้นว่าในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน  นางชมพูจะไม่อยู่ด้วยและไม่ปรากฏว่า  นายแดงนำเงินกู้มาใช้ในกิจกรใดในครอบครัว  แต่เมื่อนางชมพูขับรถพานายแดงซึ่งเป็นสามี  ไปเจรจาขอผัดผ่อนการชำระหนี้เมื่อนายหลากสีทวงถามหลายครั้ง  พฤติการณ์ของนางชมพูจึงถือได้ว่า  รู้เห็นและยินยอมให้นายแดงกู้ยืมเงินนายหลากสี  และถือได้ว่านางชมพูได้ให้สัตยาบันหนี้ของนายแดงผู้เป็นสามีแล้ว
คำพิพากษาของศาลข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  หนี้เงินกู้ของนายแดงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่นางชมพูได้ให้สัตยาบันแล้ว  นางชมพูต้องร่วมรับผิดกับนายแดงร่วมกัน  ก็คือ  ต้องชำระหนี้จากสินสมรส  คือ บ้านที่ถูกยึดขายทอดตลาด  โดยนางชมพูไม่มีสิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น