วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557


“พนัยกรรมไม่มีผลบังคับถึงสินสมรส”

 

            ท่านผู้อ่านครับสามีหรือภริยาจะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน  หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายไปแล้วก็ได้ในสินส่วนตัว  แต่สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการการทำพินัยกรรมของสามีหรือภริยา  ในส่วนที่เป็นสินสมรสนี้  ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า  สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้

            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า  โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่  ๒๗  พฤษภาคม  ๒๕๒๖  แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๕  ในระหว่างอยู่กินด้วยกันมีที่ดินพิพาท  ๒ แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่    และ   ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี  และบ้านเลขที่  ๘๘๙  หมู่    ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว

ต่อมาวันที่    เมษายน  ๒๕๓๔  นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่   ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๒ ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่   เมษายน  ๒๕๓๕ โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง   แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๐๘๐  และ  ๒๖๐๘๑  ครั้นถึงวันที่  ๑๑  ตุลาคม  ๒๕๓๖  นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ ๑ ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ ๑  โจทก์จึงขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ ๑  และจำเลยที่ ๒  แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมแบ่งโจทก์จึงนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาล

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ โจทก์กับนายเรียนได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ต่อมานายเรียนได้ถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ทำการแบ่งสินสมร จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนายเรียนเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้ทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่แบ่งปันสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำสินสมรสตามฟ้องมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสองหากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์สินได้ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำสินสมรสมาแบ่งให้แก่โจทก์ได้ดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาทรัพย์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๖๑,๒๗๕  บาท

          จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้อง นายเรียนได้ยกให้จำเลยทั้งสองแล้วในระหว่างโจทก์กับนายเรียนยังเป็นสามีภริยากัน โดยโจทก์ทราบดีแล้ว ถือว่าได้ให้สัตยาบันแล้ว สำหรับบ้านเลขที่  ๘๘๙  นั้น นายเรียนได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ ๑  เมื่อวันที่ ๓๐  เมษายน  ๒๕๓๖  โจทก์ทราบดีและเคยคัดค้านแต่ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจคัดค้านและให้สัตยาบันแล้วราคาทรัพย์สินคิดตามเป็นจริง ที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งปัจจุบันออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วทั้งสองแปลงหักส่วนที่จำเลยที่ ๒ โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไป  ๑๔ ไร่ คงเหลือเพียง  ๑๐๗  ไร่   งาน  ๔๒  ตารางวา  มีราคารวม  ๑,๐๗๓,๔๒๐  บาท บ้านมีราคา  ๕๐๐,๐๐๐  บาท จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง  ๗๘๖,๗๑๐ บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑  แบ่งบ้านเลขที่  ๘๘๙  หมู่ ๑  ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ โต๊ะรับแขก อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบ้านให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งและให้จำเลยที่ ๒  แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่  ๒๖๘๐  และ  ๒๖๘๑ตำบลเข้าไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่    และที่   หากไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  และกับจำเลยที่ ๒  หากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ให้เอาทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  และกับจำเลยที่ ๒  คนละครึ่ง คำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค ๑  พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์และจำเลยที่ ๑  ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖  แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๕  ที่ดินพิพาท    แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.)  เลขที่ ๖  และ ๗  ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านเลขที่ ๘๘๙ หมู่ ๑ ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่   เมษายน  ๒๕๓๔  นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ ๒  ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๒  ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง   แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่   เมษายน  ๒๕๓๕ โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง   แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๐๘๐  และ  ๒๖๐๘๑  ครั้นถึงวันที่  ๑๑  ตุลาคม  ๒๕๓๖ นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ ๑  ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ ๑  แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ ๒  แบ่งที่ดินพิพาททั้ง   แปลง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนายเรียนกับจำเลยที่   ก่อนนั้น เห็นว่า การที่นายเรียนให้ที่ดินทั้ง   แปลงโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ ๒  เป็นกรณีที่นายเรียนจัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖(๕)  และ ๑๔๗๙   เมื่อนายเรียนให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง แก่จำเลยที่ ๒  โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา   ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่นายเรียนจดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยที่ ๒  หรือภายใน  ๑๐  ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๘๐  เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ที่ดินทั้ง    แปลง จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒  การที่จำเลยที่ ๒  ครอบครองที่ดินทั้ง  ๒ แปลงมิใช่เป็นการครอบครองในฐานะทายาทของนายเรียนที่จะต้องมีหน้าที่แบ่งสินสมรสให้โจทก์แทนนายเรียน แต่จำเลยที่ ๒  ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จากนายเรียน จำเลยที่ ๒  จึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสของนายเรียนให้โจทก์

          ที่จำเลยที่ ๑  ฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียนที่ยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑  ภายใน   ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้บ้านเลขที่  ๘๘๙  จะเป็นสินสมรสระหว่างนายเรียนกับโจทก์  แต่ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑  มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่นายเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคหนึ่ง นายเรียนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ที่นายเรียนมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้ตามมาตรา  ๑๔๗๖ วรรคสอง  แต่นายเรียนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่๘๘๙  อีกครึ่งหนึ่งของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑  ได้ เพราะบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง  ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ทั้งหลังให้แก่จำเลยที่ ๑  จึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์  โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิเว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งบ้านเลขที่  ๘๘๙  อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียนได้ โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียน พิพากษายืน  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๕๔๔/๒๕๔๒)

คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า การทำพินัยกรรม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคหนึ่ง แม้ ร.  มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่าง  ร.  กับโจทก์ที่  ร.  มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคสอง ได้ก็ตาม  แต่  ร.  ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้

ดังนั้น  การที่ ร. ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ของ ร. ก่อนแต่อย่างใด  อนึ่ง  การทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรสนี้  แม้นว่าสามีหรือภริยาผู้ทำพินัยกรรมจะให้ความยินยอมในการทำพินัยกรรม  โดยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกสินสมรสของตนให้แก่บุคคลใดได้ก็ตาม  การทำพินัยกรรมของสามีหรือภริยานั้น  ก็ไม่ผูกพันสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมด้วยไม่  

การปฏิบัติต่อเด็ก

 

ถาม  การกระทำใดบ้างที่กฎหมายห้ามมิให้กระทำต่อเด็ก  และหากฝ่าฝืนจะได้รับโทษหรือไม่เพียงใด?

ตอบ  พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก  พ.ศ. ๒๕๔๖  ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติต่อเด็ก(บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส)ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ดังต่อไปนี้ครับ

(๑) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๒) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๓) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

(๔) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว

(๕) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(๖) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

(๗) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(๘) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(๙) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(๑๐) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

หากผู้ใดฝ่าฝืนตามข้อ (๑)  ถึงข้อ (๑๐)  กฎหมายบอกว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และถ้าการกระทำความผิดข้างต้นมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้นครับๆๆ

 

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทำสัญญากู้แทนการให้สินสอด
โดย...นาวิน  วังคีรี น.บ. , น.ม.
หัวหน้าฝ่ายกฎหมายสมาคมเสริมสร้างครอบครัวฯ


            ท่านผู้อ่านครับ  สินสอด  ตามประเพณีไทยเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้เพื่อเป็นการตอบแทนที่หญิงยอมสมรส  ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง  หรือมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควร  หรือไม่อาจสมรสกับหญิงได้นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ให้ฝ่ายชายมีสิทธิที่จะเรียกสินสอดคืนได้  สินสอดจึงเป็นทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น  เงิน  ทอง  หรือสิทธิเรียกร้องที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดา  ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง  เพื่อตอบแทนในการที่หญิงยอมสมรส  เมื่อมีการตกลงให้สินสอดแก่กันแล้ว  แม้นตกลงกันด้วยวาจาก็ถือได้ว่าสมบูรณ์มีผลบังคับได้  โดยการตกลงไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ส่วนการมอบทรัพย์สินที่เป็นสินสอดสินสอดให้แก่กัน  ไม่จำต้องมอบให้ในขณะทำสัญญาจะมอบในเวลาใดๆ  และจะเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยทำเป็นสัญญากู้ไว้แทนก็ได้มีผลบังคับได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการให้สินสอดแก่กันโดยแปลงหนี้ใหม่มาเป็นเงินในสัญญากู้นี้  ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  คู่กรณีสามารถทำสัญญากู้แทนการให้สินสอดแก่กันได้  โดยในสัญญาจะกำหนดให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้รับเงินสินสอดที่แปลงหนี้ใหม่มาเป็นเงินกู้แทนมารดาตามสัญญากู้ก็ได้  ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าจำเลยกับนางจิตรมารดาโจทก์ได้จัดให้มีการแต่งงานระหว่างนายวิชาญ บุตรชายจำเลยกับโจทก์ โดยนางจิตรเรียกเงินค่าสินสอดจากจำเลย จำนวน   ๘,๐๐๐บาท ครั้นถึงวันทำพิธีแต่งงานจำเลยบอกนางจิตรว่าจัดหาเงินสินสอดไม่ทัน ขอให้ทำพิธีแต่งงานไปก่อน และจะนำเงินค่าสินสอดมาให้ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อมิให้เสียพิธีแต่งงานนางจิตรได้ยินยอมให้จำเลยเลื่อนการให้สินสอดออกไป
ครั้นถึงกำหนดจำเลยมาบอกนางจิตรว่า จัดหาเงินค่าสินสอดไม่ทันขอแปลงหนี้ ใหม่โดยขอทำเป็นสัญญากู้ไว้และขอผัดชำระเงินภายใน ๑๙ เดือน นางจิตร ยินยอมให้จำเลยขยายเวลาได้อีกแต่ขอโอนเงินดังกล่าวให้โจทก์จำเลยตกลงและทำสัญญากู้ทั้งยอมเสียดอกเบี้ยตามกฎหมายให้โจทก์ยึดถือไว้ ภายหลังจากแต่งงานมารดาโจทก์ได้เคยเตือนให้โจทก์และนายวิชาญไปจดทะเบียนสมรส  แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนสมรสกัน  โดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน๓  เดือน ก็มีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้ที่จำเลยได้ให้สัญญาไว้  จำเลยก็ดื้อแพ่งไม่ยอมชำระเงินตามสัญญา และเวลาได้ล่วงเลยมานานมากแล้วโจทก์จึงได้ทวงถามจำเลยแต่ก็เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน  ๘,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
          จำเลยให้การว่าไม่เคยจัดให้มีการแต่งงานระหว่างนายวิชาญกับโจทก์มารดาโจทก์ไม่เคยเรียกเงินสินสอดจำเลยไม่เคยรับจะชำระเงินสินสอด โจทก์กับนายวิชาญ  ไปอยู่กินร่วมกันเองจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้ให้โจทก์ ลายเซ็นชื่อในสัญญาไม่ใช่ของจำเลยหากเป็นลายเซ็นชื่อของจำเลย จำเลยก็ถูกหลอกลวงให้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญการสมรสตามกฎหมายมิได้มีขึ้นหากมีการตกลงจะให้ทรัพย์ก็ไม่มีลักษณะเป็นสินสอดตามกฎหมายกรณีเป็นเพียงการจะให้ทรัพย์โดยเสน่หาเท่านั้น ซึ่งฟ้องร้องบังคับกันมิได้ทั้งมูลหนี้ก็หาได้มีอยู่ไม่หรือมีก็ไม่สมบูรณ์
           ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  ๘,๐๐๐  บาท  พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้จริงและแทนเงินสินสอดซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้แก่มารดาโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าอันสินสอดนี้ตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ทั้งศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าหากมีข้อตกลงจะให้สินสอดต่อกันแล้วการให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งไม่เหมือนกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส
ฉะนั้น  เมื่อบิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และนายวิชาญทำพิธีแต่งงานกันและโจทก์เต็มใจยอมสมรสแล้วมารดาโจทก์ยังได้เตือนให้โจทก์และนายวิชาญ ไปจดทะเบียนสมรสอีกแต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียน โดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้  ครั้นอยู่ด้วยกัน๓  เดือน ก็มีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนเช่นนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้สัญญากู้ตามเอกสารศาลหมายจ.๑  จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดดังกล่าวอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อบิดามารดาโจทก์ได้ตกลงยกให้โจทก์  และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้อันนี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้เงินที่แปลงหนี้ใหม่ ตามเอกสารศาลหมายจ. ๑ ทุกประการ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๗๘/๒๕๑๘)
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า  ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดนั้นสามารถแปลงหนี้ใหม่  ให้เป็นหนี้เงินกู้แทนกันได้  เมื่อศาลฎีกาวางหลักไว้เช่นนี้แล้ว  ฝ่ายชายที่ยังหาสินสอดไม่ได้อ่านแล้วคงจะสบายใจขึ้นพอมีหนทางที่จะไปพูดคุยกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง  และขอทำสัญญากู้เงินไว้แทนสินสอดได้  แต่นั่นคงเป็นหนทางสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และไม่น่าจะมีใครเขาทำกันในขณะไปขอบุตรสาว  โดยขอทำสัญญากู้ไว้แทนสินสอดตอบแทนบิดามารดา  ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่ยอมสมรสกับตน  หากทำอย่างนั้นคงต้องถูกไล่ตะเพิดออกจากบ้านอย่างแน่นอน
ดังนั้น  การทำสัญญากู้แทนสินสอดในความเป็นจริงแล้วทำได้ยาก  หากบิดามารดาของฝ่ายหญิงไม่ตกลงยินยอมด้วยอย่างนี้ฝ่ายชายคงต้องร้องเพลงรอกันต่อไปอีกนานกว่าจะได้แต่ง  และเมื่อตกลงให้สินสอดและแต่งงานกันแล้ว  ต่อมาไม่มีการจดทะเบียนสมรสโดยฝ่ายชายและฝ่ายหญิงละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนสมรสตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น(ทั้งชายและหญิงตกลงจะไปจดทะเบียนกันในวันหลัง)  หลังจากนั้นเมื่อมีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไป  ในส่วนของฝ่ายชายซึ่งมีส่วนผิดอยู่ด้วย  จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกสินสอดคืนได้  เว้นเสียแต่ว่าเหตุที่ทำให้ไม่มีการสมรส  (จดทะเบียนสมรส)  มีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิง  หรือโดยพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ฝ่ายชายไม่สมควร  หรือไม่อาจสมรสกับหญิงเช่นว่า  หญิงคู่หมั้นไปร่วมประเวณีกับชายอื่น  หรือหญิงเป็นโรคติดต่อย่างร้ายแรงเป็นต้น  จึงจะเป็นเหตุให้ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกร้องสินสอดคืนได้

บิดามารดาจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์

ถาม  บิดามารดาจะทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้หรือไม่  และมีกรณีใดบ้างที่บิดามารดาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้?

ตอบ  การจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์  บิดามารดาสามารถกระทำได้เสมอแต่ต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ  เนื่องจากการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์มีผลกระทบต่อผู้เยาว์  กฎหมายจึงกำหนดให้นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้  บิดามารดาจะกระทำได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  อาทิ

          (๑) ขายแลกเปลี่ยนขายฝากให้เช่าซื้อจำนองปลดจำนองหรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
           (๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
           (๓) ก่อตั้งภาระจำยอมสิทธิอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินสิทธิเก็บกินภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
           (๔) จำหน่ายไปทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่ง สิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือ สิทธิเรียกร้อง ที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
           (๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
           (๖) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผล ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
           (๗) ให้กู้ยืมเงิน
           (๘) ให้โดยเสน่หาเว้นแต่ จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะเพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
            (๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันหรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
            (๑๐) ประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็น ผู้รับชำระหนี้ ของ บุคคลอื่น หรือแทน บุคคลอื่น
            (๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
- ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือ พันธบัตร ที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
- รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรกแต่ จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งของราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
- ฝากประจำในธนาคาร ที่ได้ตั้งขึ้น โดยกฎหมาย หรือที่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบกิจการ ในราชอาณาจักร
           (๑๒) ประนีประนอมยอมความ
           (๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ข้อตกลงแบ่งสินสมรส”

            ท่านผู้อ่านครับคู่สามีภริยาจะตกลงทำการหย่ากัน  โดยทำบันทึกตกลงกันเองเป็นหนังสือก็สามารถทำได้  และเมื่อตกลงหย่าขาดจากกันแล้วกฎหมายยังให้สิทธิสามีภริยาแบ่งสินสมรสกันไปในคราวเดียวกันได้ด้วย  โดยการแบ่งสินสมรสนั้นให้ฝ่ายชายและหญิงได้ส่วนในสินสมรสเท่าๆกัน  มุมกฎหมายฉบับนี้ผู้เขียนจะนำเอาเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงหย่า  กรณีที่คู่สามีภริยาตกลงหย่ากันเองแล้วทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าว่า  “ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง”  นั้น  มีผลทางกฎหมายอย่างไร  และเมื่อในระหว่างผ่อนชำระยังไม่เสร็จสิ้นสามี  กลับนำเอาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินไปขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา  ภริยามีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการขายได้หรือไม่  เรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วครับ
            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า  โจทก์ร่วมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย  เมื่อวันที่    มีนาคม  ๒๕๒๗  ต่อมาเมื่อวันที่    ตุลาคม  ๒๕๓๖  โจทก์ร่วมซื้อทาวเฮ้าส์  เลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๑/๘๙๙  ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๒๗๓๓  จากบริษัทแสนชัยพล  ดีเวลล็อปเม้นท์  จำกัด  โดยการซื้อได้รับความยินยอมจากจำเลย  และโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สินเคหการ จำกัด  ต่อมาวันที่  ๒๔  พฤศจิกายน  ๒๕๓๘  โจทก์ร่วมจดทะเบียนหย่ากับจำเลย  และทำบันทึกด้านหลังทะเบียนหย่าว่า  เรื่องทรัพย์สินที่ดิน  ๒๑  ตารางวา  พร้อมบ้านเลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง
            ต่อมาวันที่  ๒๔  มกราคม  ๒๕๔๐  โจทก์ร่วมได้ขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวในราคา  ๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท  ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย  แล้วโจทก์นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์  ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์ร่วม  โจทก์  และจำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในทาวน์เฮาส์ที่ไม่ยอมออกจากทาวน์เฮาส์  โจทก์จึงฟ้องขับไล่ขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากทาวน์เฮาส์ และที่ดินที่ตนซื้อมาจากโจทก์ร่วม(สามีจำเลย)
            จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทระหว่างโจทก์กับนายวุฒิไกร(สามีจำเลย)เฉพาะส่วนของ จำเลย ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นให้ใช้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยจะได้รับชำระแล้วเสร็จ
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
          ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายวุฒิไกร เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓)  ศาลชั้นต้นอนุญาต
          โจทก์ร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์กับโจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๗๓๓ ตำบลบางขุนศรี (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมทาว์น์เฮาส์พิพาทเลขที่ ๑๖๑/๘๙๙  เป็นของจำเลยกึ่งหนึ่ง หากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ (ที่ถูกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ)
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐  บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา  ศาลฎีกาเห็นว่า  คดีนี้มีประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามคำฎีกาของโจทก์ว่า  บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าที่เขียนไว้ว่า  เรื่องทรัพย์สินที่ดิน  ๒๑  ตารางวา  พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง  มีความหมายว่า  ให้ทรัพย์สินพิพาทตกเป็นของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือไม่  ในระหว่างผ่อนชำระ  หากตกเป็นของโจทก์ร่วม  โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทหรือไม่  และจำเลยมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้หรือไม่เพียงใด
ศาลฎีกาแปลความหมายของข้อตกลงนี้ว่า
ประการแรก  เห็นว่า  ข้อตกลงไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า  จำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด  เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว  โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น
ประการที่สอง  เห็นว่า  เมื่อข้อตกลงไม่มีข้อความใดแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ว่า  จำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด    การแบ่งสินสมรสจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๓ ที่บัญญัติว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน คือ  คนละกึ่งหนึ่ง  เมื่อข้อตกลงหลังทะเบียนหย่า  ไม่มีข้อตกลงในการแบ่งแยกสินสมรสกันไว้  โจทก์ร่วมและจำเลยจึงยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินพิพาทคนละส่วนเท่าๆกันในทุกส่วนของทรัพย์สินพิพาท
ประการที่สาม  เห็นว่า  เมื่อโจทก์ร่วมนำที่ดินและทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งแยกกันไว้ขณะทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าไปขาย  ซึ่งจำเลยยังคงมีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ร่วม  โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย  สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ร่วมกับโจทก์  จึงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเท่านั้นไม่ผูกพันจำเลย
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับจำเลยในทุกส่วนแล้ว  โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาท  ส่วนจำเลยมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์ระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วม  ในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๖๐/๒๕๕๒)
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่กล่าวมาสรุปได้ว่า  ก่อนที่จะทำบันทึกแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาไว้ในท้ายทะเบียนหย่า  หรือทำข้อตกลงกันเองก็ต้องระบุกันไว้ให้ชัดเจนว่า  ใครได้กรรมสิทธิ์ในสินสมรสระหว่างที่ยังผ่อนชำระไม่เสร็จสิ้น  และหากจะต้องขายในระหว่างผ่อนคู่สามีภริยาจะต้องแบ่งกันอย่างไร  เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  หากเพียงบันทึกตกลงว่า  “ที่ดินและทาวน์เฮาส์เมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง”  นั้น  ผลทางกฎหมายก็มีเพียงว่า  ฝ่ายหญิงมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทในส่วนของตนทั้งหมดให้โจทก์ร่วม  ในระหว่างผ่อนชำระกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาท  จึงยังคงเป็นของโจทก์ร่วมและจำเลยร่วมกันในระหว่างผ่อนชำระ  หาใช่ที่ดินและทาวน์เฮาส์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดนะครับ

จดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ...หย่าในประเทศไทย

ถาม  สามีต่างชาติและภริยาไทยจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศจะทำการหย่ากันโดยความยินยอมในประเทศไทยได้หรือไม่  และมีผลเป็นอย่างไรบ้าง? 
ตอบ  สามีต่างชาติและภริยาไทยจะจดทะเบียนการหย่ากันในประเทศไทยได้นั้น  กฎหมายแห่งสัญชาติของสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายต้องยอมให้หย่ากันได้  ซึ่งการหย่านั้นก็มีอยู่    แบบ 
แบบแรก  เป็นการหย่าโดยความยินยอม  สามีต่างชาติและภริยาจะทำการหย่าได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายแห่งสัญชาติของสามีและภริยายินยอมให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหย่าโดยความยินยอมได้
แบบที่สอง  เป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล  ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน  เว้นแต่  กฎหมายแห่งสัญชาติของสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น  หากสามีต่างชาติและภริยาไทยจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศ  หากประสงค์จะทำการหย่ากันโดยความยินยอมในประเทศไทยจึงสามารถกระทำได้ตามแบบการหย่าข้างต้น  และมีผลใช้บังคับกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๔ แม้สามีต่างชาติและภริยาไทยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนัก-นายทะเบียนอำเภอ  หรือกิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียน ณ ที่ทำการสถานทูตหรือกงสุลไทยก็ตาม  แต่การหย่านี้จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตไม่ได้  เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่าแล้ว
ส่วนการจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยก็ต้องปฏิบัติตามตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าการใด ๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว ได้ทำขึ้นในต่างประเทศซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นนั้นบัญญัติไว้ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้บันทึกในประเทศไทยก็ได้ แต่ต้องยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้น  โดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทยซึ่งฝ่ายนั้นต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และมาตรา ๑๘ บัญญัติว่า การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า แม้สามีภริยาจะจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศตามแบบกฎหมายของกฎหมายต่างประเทศก็ตาม  หากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยตามขั้นตอนของบทกฎหมายดังกล่าวได้

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

              การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา
              
              การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการก็ตาม
              ส่วนข้อความที่ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมนั้นก็ได้แก่ข้อความต่อไปนี้ครับ
              (๑) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
              (๒) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการสถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม
              (๓) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
              (๔) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
              (๕) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
              อนึ่ง  ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่า  เป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณาตาม (๑)  ครับ