วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

“บุตรนอกกฎหมาย” กับ “ค่าขาดไร้อุปการะ”

           
             ท่านผู้อ่านครับปกติเด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้ทำการสมรกันกับชายนั้น  เด็กที่เกิดมาก็จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงมารดาเสมอ  แต่จะไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นบิดา  และหากจะให้เด็กนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นบิดา  กฎหมายบอกว่า  หญิงและชายนั้นต้องจดทะเบียนสมรสกัน  หรือชายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร  หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรของชาย  หากไม่ดำเนินการดังว่ามาแล้วนั้น  เด็กที่เกิดมาก็จะเป็นบุตรนอกกฎหมายของชายผู้เป็นบิดาโดยผลของกฎหมายทันที  แม้นว่าในความเป็นจริงบุตรนั้นจะเป็นบุตรของตนเองก็ตาม
            ส่วนบุตรนอกกฎหมายของชายผู้เป็นบิดาจะมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ  ในกรณีที่บิดาของตนถูกทำละเมิดถึงแก่ความตายได้หรือไม่นั้น  ผู้เขียนก็มีเรื่องจริงที่พิพาทและต่อสู้คดีกันพอพอสังเขปมาเป็นตัวอย่างในฉบับนี้  ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายเหลือง  นายชมพูเป็นลูกจ้างของนายหลากสีขับรถโดยประมาทชนนายเหลืองถึงแก่ความตาย  นายแดงบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว  จึงฟ้องนายหลากสีให้รับผิดค่าขาดไร้อุปการะเพราะขาดบิดาซึ่งต้องเลี้ยงดูตนเองจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะต่อศาล
            ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายหลากสีชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่นายแดง
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องนายแดง
            ศาลฎีกาพิพากษาว่า  ประการแรก  ผู้ทำละเมิดให้เขาถึงตายจะรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะ  ก็เฉพาะแต่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะตามกฎหมายเท่านั้น
            ประการที่สอง  ไม่มีกฎหมายให้บิดาอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว
            ประการที่สาม  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วมีสิทธิเพียงรับมรดกของบิดาได้
            คำวินิจฉัยของศาลฎีกาข้างต้นทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า  บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่กฎหมายกำหนด  นายแดงจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะ(ค่าอุปการะเลี้ยงดู)  จากผู้ที่ทำให้บิดาของตนเองตามความเป็นจริงถึงแก่ความตายได้  เพราะบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วมีสิทธิเพียงรับมรดกของบิดาเท่านั้น
           

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22 กันยายน 2557 เวลา 22:40

    กรณีศาลสั่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายภายหลังบิดาเสียชีวิตจากถูกละเมิด ฟ้องเรียกค่าไร้อุปการะได้ไหม เพราะตาม ป.พ.พ. ม. 1557 บอกว่ามีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่เด็กเกิด

    ตอบลบ