วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

เหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม

การเลิกรับบุตรบุญธรรมนั้น  ก็มีอยู่ด้วยกัน  3  กรณี 
กรณีแรก   บุตรบุญธรรม  กับผู้รับบุตรบุญธรรม  ตกลงเลิกกันเอง
กรณีที่ 2  บุตรบุญธรรม  สมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม
กรณีที่ 3  ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือ  บุตรบุญธรรมฟ้องเลิก  การรับบุตรบุญธรรม
ทั้งสามกรณีนี้ก็เป็นการ  เลิกรับบุตรบุญธรรม  นะครับ
ส่วนการฟ้องขอให้  เลิกการรับบุตรบุญธรรม  นั้น กฎหมายก็กำหนดเหตุให้  มีการฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมไว้ด้วยกัน  ทั้งหมด  8  เหตุ 
เหตุแรก มีอยู่ว่า   ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายเป็นเหตุให้  อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควร   กฎหมายก็กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ 
ตัวอย่างเช่น  ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นเจ้าของซ่องโสเภณีเด็ก  ถูกดำเนินคดีและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าว
เหตุที่  2   ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง   หรือบุพการีอย่างร้ายแรง  กฎหมายก็กำหนดให้  อีกฝ่ายหนึ่งสามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ 
- หรือถ้าบุตรบุญธรรมหมิ่นประมาท  หรือเหยียดหยามคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างร้ายแรง  ผู้รับบุตรบุญธรรมก็สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ด้วยเช่นเดียวกัน 
ตัวอย่างเช่น  บุตรบุญธรรมเรียกผู้รับบุตรบุญธรรมว่า  “อ้าย”  ถือว่า  เป็นกรณีร้ายแรง
เหตุที่  3   ฝ่ายหนึ่งประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือบุพการี  หรือคู่สมรส  จนเกิดอันตราย  ต่อกาย  หรือจิตใจอย่างร้ายแรง  กฎหมายก็กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้น  สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้  ตัวอย่างเช่น  ใช้ปืนยิงบิดา  ผู้รับบุตรบุญธรรม 
เหตุที่ 4  ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง  กฎหมายก็กำหนดให้  อีกฝ่ายหนึ่งนั้น  สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้
เหตุที่ 5  ฝ่ายหนึ่งทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี  กฎหมายก็กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งนั้น  สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้ ตัวอย่างเช่น  หนีไปอยู่ที่อื่นไม่ติดต่อกลับส่งข่าวมา  หาผู้รับบุตรบุญธรรม
เหตุที่  6  ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำคุกเกิน  3  ปี  โดยมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาท  กฎหมายก็กำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่ง  สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้
เหตุที่ 7   ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา  เป็นเหตุให้เกิด  หรืออาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง  ต่อบุตรบุญธรรม  กฎหมายก็กำหนดให้บุตรบุญธรรม  สามารถที่จะฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้  ตัวอย่างเช่น  ผู้รับบุตรบุญธรรมนำที่ดินของบุตรบุญธรรมไปขายโดยไม่ขออนุญาตศาล  หรือว่าบุตรบุญธรรมเจ็บป่วยไม่พาไปหาหมอ
    ทีนี้เรามาดูเหตุสุดท้าย  เหตุที่ 8   ผู้รับบุตรบุญธรรมถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วน หรือว่าทั้งหมด  อันเนื่องมาจากเป็นผู้ที่ไม่สมควรที่จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม  กฎหมายก็กำหนดให้บุตรบุญธรรม  สามารถที่จะฟ้อง  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้

ที่พูดมาทั้ง  8  เหตุนี้  ก็เป็นเหตุตามกฎหมายที่กำหนดให้  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุตรบุญธรรม  หรือผู้รับบุตรบุญธรรม  สามารถที่จะนำเอาเหตุทั้งแปดเหตุนี้  ไปฟ้องขอให้  เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้
เช่นเคยเราก็มีคดีตัวอย่างมาเล่าให้ท่านผู้ฟังได้ฟังกัน
เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  นายรักเด็กกับนางใจดีเป็นสามีภริยากัน  นางใจดีได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงสวยเป็นบุตรบุญธรรม  ส่วนนายรักเด็กเป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม
ต่อมานางใจดี  ได้ถึงแก่ความตาย  เด็กหญิงสวยก็เลยทิ้งร้างนายรักเด็ก  ไปอยู่กับบิดามารดาเดิม  ของตนเกินกว่า  1  ปี 
นายรักเด็กเลยฟ้อง  ขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม  ระหว่างตนเองกับเด็กหญิงสวยต่อศาล
ท่านผู้ฟังว่า  นายรักเด็กจะฟ้องขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม  ระหว่างตนเองกับเด็กหญิงสวย  ได้ไหมครับ?
เรื่องนี้  ศาลบอกว่า 
นายรักเด็กแม้เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมให้นางใจดี  รับเด็กหญิงสวยเป็นบุตรบุญธรรม  นายรักเด็กก็มีสิทธิฟ้องขอขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม  ระหว่างตนเองกับเด็กหญิงสวยได้  เมื่อเด็กหญิงสวยจงใจทิ้งร้างนายรักเด็กนั้น  ไปเกินกว่าหนึ่งปีต่อเนื่องกัน  โดยไม่กลับมาอยู่กับนายรักเด็ก 
เรื่องนี้ก็สรุปได้ว่า 
สามีผู้ให้ความยินยอมให้ภริยารับบุตรบุญธรรม  แม้นว่า  ไม่ได้เป็นผู้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเอง  ก็มีสิทธิฟ้องขอให้เลิกการรับบุตรบุญธรรมได้
                        ส่วนอายุความในการฟ้องขอให้  เลิกการรับบุตรบุญธรรม  นั้น  กฎหมายบอกว่า
-                    ห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี  นับแต่วันที่ผู้ขอเลิก  การรับบุตรบุญธรรมรู้ถึงเหตุ  ที่ให้เลิกการรับบุตรบุญธรรม
-                    หรือเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เหตุนั้นได้เกิดขึ้น
            
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น