วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

สัญญา “ก่อนและระหว่างสมรส”

            ชายหญิงที่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา  แต่กลัวว่าทรัพย์สินของตนเองที่มีมาแต่เดิมจะตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยอิทธิพลของความรัก  หรือด้วยเพราะเหตุผลประการใดๆก็ตาม  ฝ่ายที่มีทรัพย์สินอยู่มากกว่า  หรือที่เรียกว่ารวยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็อาจจะทำสัญญากันก่อนที่จะทำการจดทะเบียนสมรสกับอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้  ซึ่งสัญญาที่ว่านี้เราเรียกว่า  “สัญญาก่อนสมรส”  สัญญาก่อนสมรสนี้คู่สามีภริยาทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่าจะจัดการกันอย่างไรบ้าง
            โดยหลักการแล้วสัญญาก่อนสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนสมรส  พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะก็คือใช้บังคับไม่ได้  สัญญาก่อนสมรสจึงเป็นทางออกของคนที่ร่ำรวยที่ไม่อยากให้ทรัพย์สินของตนเองสูญหายไปกับคู่สามีหรือภริยาของตนที่อาจจะคิดไม่ซื่อในภายหลัง  ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดหาทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทรัพย์สินในอนาคตไว้  โดยให้คู่สามีภริยานั้นสามารถที่จะทำสัญญากันไว้ก่อนสมรสว่า  ทรัพย์ใดเป็นของใคร  ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการ  และใครจะได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นส่วนข้อกำหนดในสัญญาก่อนสมรสนี้  คู่สามีภริยาสามารถที่จะกำหนดอย่างไรก็ได้ตามใจชอบแต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้นนะครับ  ท่านผู้อ่านท่านใดที่มีทรัพย์สินมากเมื่อได้อ่านแล้วเรื่องนี้แล้วก็คงจะเกิดความสบายใจขึ้นไม่ต้องกลัวว่า  สามีหรือภริยาจะเอาทรัพย์สินของตนเองไปใช้  หรือกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะหลอกลวงแต่งานกับตนเพื่อประโยชน์ทางด้านทรัพย์สิน
            ดังนั้น  การทำสัญญาก่อนสมรสไว้จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า  เพราะว่าบางท่านอาจมีทรัพย์สินมากมายเป็นหมื่นล้านแสนล้านก่อนที่จะมาอยู่กินเป็นสามีภริยากับอีกฝ่ายหนึ่ง  และหากเกิดปัญหาในการแบ่งทรัพย์สินกันคู่สามีภริยาก็สามารถที่จะทำการแบ่งปันทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาได้ง่ายขึ้น  ส่วนข้อความในสัญญานั้นอาจเขียนกำหนดไว้ว่า  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาให้เป็นของฝ่ายนั้นแต่ฝ่ายเดียวไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือรายได้จาการประกอบกิจการ  อันนี้ก็สามารถที่จะทำสัญญาก่อนสมรสได้เช่นกัน
            เมื่อกฎหมายอนุญาตให้คู่สามีภริยาทำสัญญาก่อนสมรสได้แล้วกฎหมายยังอนุญาตให้คู่สามีภรรยาทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันในระหว่างสมรสได้อีกครับ  แต่การทำสัญญาระหว่างสมรสนั้น  มีข้อเสียอยู่ว่า  คู่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถขอยกเลิกได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน  หรือภายในหนึ่งปีหลังจากขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้  ส่วนสัญญาก่อนสมรสนั้นจะเลิกกันเองไม่ได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลครับ
            การทำสัญญาก่อนสมรส  และสัญญาระหว่างสมรสนั้นจะไม่กระทบกระเทือนต่อบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริต ก็คือบุคคลภายนอกต้องไม่ทราบว่ามีสัญญาดังกล่าวอยู่ก่อน  และหากรู้ก็คงไม่เข้าทำสัญญากับคู่สามีภริยานั้น  ฉบับนี้ผู้เขียนก็มีตัวอย่างการทำสัญญาระหว่างสมรสอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว 
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายแดงกับนางเหลืองเป็นสามีภริยากันภายหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว  วันที่  ๒๖ มิถุนายน  ๒๕๔๑  นายแดงกับนางเหลืองได้ทำสัญญากันในระหว่างสมรสเพื่อแบ่งสินสมรสกันโดยนายแดงตกลงให้ที่ดิน    แปลง  แก่นางเหลือง  และไม่ขอเกี่ยวข้องกับที่ดิน    แปลง  นี้  ต่อมาวันที่ ๗  กรกฎาคม  ๒๕๔๒  นายแดงได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้นางเหลืองทำนิติกรรมใดๆในที่ดิน    แปลงได้ตามความประสงค์และไม่ขอยกเลิกตลอดไป  ครั้นเมื่อวันที่ ๙  กันยายน  ๒๕๔๒  นางเหลืองได้โอนที่ดินให้บุตรทั้งหมด  นายแดงจึงบอกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับนางเหลือ  ในวันที่ ๘  สิงหาคม  ๒๕๔๔ 
จากข้อเท็จจริงข้างต้น  นายแดงสามารถยกเลิกสัญญาระหว่างสมรสได้หรือไม่  และบุตรจะต้องคืนที่ดินให้แก่นางเหลืองและนายแดงตามเดิมที่เป็นอยู่ไหม
            ศาลฎีกาบอกว่า  นางเหลืองได้ยกที่ดิน    แปลงให้แก่บุตรตั้งแต่ในขณะที่นางเหลืองยังมีสิทธิตามข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินกัน  ซึ่งขณะนั้นยังไม่ถูกบอกล้าง  ผลของการบอกเลิกสัญญาของนายแดงที่บอกเลิกภายหลังที่ทำสัญญานั้นยังคงไม่ถูกบอกล้าง จึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุตรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับทรัพย์สินนั้น
เรื่องนี้ก็สรุปได้ว่า นายแดงบอกเลิกสัญญาในระหว่างสมรสได้  แต่ไม่มีผลย้อนหลังกลับไปให้กระทบกระเทือนบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต  ก็คือ  ผู้ที่ได้รับทรัพย์โดยสุจริตนั่นเอง  ส่วนทางแก้ของนายแดงนั้น  นายแดงต้องบอกเลิกสัญญาในระหว่างสมรสก่อนการโอนที่ดินของนางเหลืองให้แก่บุตร  หรือต้องไม่ทำสัญญาระหว่างสมรสเพราะการจัดการสินสมรสทั้งนางเหลืองและนายแดงต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน  ดังนี้นางเหลืองก็ไม่มีสิทธิที่จะโอนที่ดินให้แก่บุตรได้
             
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น