วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หน้าที่เลี้ยงดูบุตรปฏิเสธไม่ได้

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรผู้เยาว์นั้น  กฎหมายกำหนดไว้ให้บุตรผู้เยาว์สามารถที่จะเรียกร้องเอาจากบิดามารดาได้  หากไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู  หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูแต่ไม่เพียงพอแก่อัตภาพ  ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นี้  บิดาหรือมารดาจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุว่า  บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยกดอกผลของสินสมรสของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว  และไม่ต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีกต่อไปได้หรือไม่นั้น  ปัญหานี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  จำเลยแยกกันอยู่กับโจทก์ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2542  แต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังคงอยู่อาศัยกับโจทก์ตลอดมา  โดยจำเลยยินยอมมอบดอกผลค่าเช่าห้องในอาคารชุด  ซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์  เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง  ต่อมาจำเลยได้ขาดการติดต่อกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง
           โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ  หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาหรือเทียบเท่า  หรือชั้นสูงสุด
          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า   เมื่อปี  2542  โจทก์และจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันและบิดาโจทก์ได้ทำร้ายร่างกายจำเลย  โจทก์และจำเลยจึงตกลงแยกกันอยู่โดยได้ทำหนังสือเรื่องทรัพย์สินระหว่างสมรสไว้  จำเลยมีรายจ่ายและภาระหนี้สินจำนวนมาก  ไม่อยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้  โจทก์เป็นผู้มีฐานะทางการเงินและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยมาก สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้จากค่าเช่า  ซึ่งเป็นดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน  โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นคดีนี้  เพราะโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน
           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ  ๑๕,๐๐๐  บาท  ต่อคน  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ
          จำเลยอุทธรณ์          
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ  7,500  บาท  ต่อบุตรผู้เยาว์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ
          โจทก์และจำเลยฎีกา
          โจทก์ฎีกาว่า  ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเดือนละ  ๓๐,๐๐๐  บาท  เหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์อ้าง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๖๔  มาตัดทอนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ  ๑๕,๐๐๐  บาท  เป็นการไม่ชอบ  ส่วนจำเลยฎีกาว่า  จำเลยมีรายจ่ายและหนี้สินมากว่ารายรับ  และได้ยกรายได้จากสินสมรสในส่วนขอจำเลยให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดุบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ประการแรก  ป.พ.พ.  มาตรา  1546  วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า  “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์...”  บทบัญญัติดังกล่าว  กำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธไม่ได้
            ประการที่สอง  การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๙๘/๒๕๓๘  ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้  ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี  และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า  ต่างฝ่ายต่างมีรายรับและรายจ่ายของตนเอง  โดยโจทก์มีรายรับจากค่าเช่าห้องในอาคารชุด  และต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่พอนำค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้   ส่วนจำเลยมีรายได้จากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และจากการสอนพิเศษ  แต่มีรายจ่ายส่วนตัวและหนี้สิน  เห็นว่า  ค่าใช้จ่ายในส่วนของจำเลยเกิดจากจำเลยแยกไปอยู่ต่างหากเอง  และหนี้สินที่จำเลยก่อขึ้นก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว  แม้โจทก์และจำเลยจะมีภาระในการอุปการะเลี้ยงดูบุพการีด้วยก็ตามก็เชื่อว่าโจทก์และจำเลยยังมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาวทั้งสองไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
           ประการที่สาม  การที่จำเลยอ้างว่า  ค่าเช่าห้องในอาคารชุดเป็นดอกผลของสินสมรส  เมื่อจำเลยมอบให้โจทก์  เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เท่ากับจำเลยได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองแล้วนั้น  เห็นว่า  ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของจำเลยในฐานะบิดาที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย  จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๖๘/๒๕๕๒)
            คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น  บิดาหรือมารดาไม่สามารถอ้างเหตุที่ตนเองได้ให้ดอกผลส่วนแบ่งของสินสมรสเป็นค่าอุปการเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  เพื่อมายกเว้นหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น