วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จดทะเบียนรับคนตายเป็นบุตร

การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนั้น  บิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับความยินยอมจากเด็ก  และมารดาเด็กด้วยจึงจะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้  หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้าน  หรือไม่ให้ความยินยอม  หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้  การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรของบิดาต้องมีคำพิพากษาของศาล  ปัญหาจึงมีตามมาว่า  หากเด็กและมารดาเด็กได้เสียชีวิตไปก่อนที่บิดาจะร้องขอต่อศาลให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน  การตายของเด็กและมารดาเด็กนี้จะถือได้ว่า  เป็นกรณีที่ไม่อาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมายที่ให้สิทธิบิดาร้องขอต่อศาลได้หรือไม่นั้น  เรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
          ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  ผู้ร้อง(บิดา)กับนางดวง คำสุวรรณ อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 7 คน มีจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ คำสุวรรณ เป็นบุตรคนที่หกของผู้ร้อง ต่อมานางดวงและจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ถึงแก่ความตาย ทางราชการจะจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ผู้ร้องเป็นทายาทเพียงคนเดียวที่จ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ได้ทำหนังสือระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินบำเหน็จตกทอดที่หน่วยงานต้นสังกัด แต่มีเหตุขัดข้องโดยกรมบัญชีกลางแจ้งว่าผู้ร้องมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นายทะเบียนก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะไม่มีผู้ใดมาให้ความยินยอม ด้วยเหตุขัดข้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ คำสุวรรณ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง โดยขอให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของภริยาและบุตรผู้ร้อง ซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมตามกฎหมายได้
          ศาลชั้นต้น (ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา) มีคำสั่งว่า ตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องในฐานะบิดาจะจดทะเบียนรับผู้ตายเป็นบุตร ซึ่งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลได้ ให้ยกคำร้อง
          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "เห็นว่านางดวงมารดาของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์และจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่าจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์เป็นบุตรได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลและยกคำร้องขอนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น"
          พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแล้วดำเนินการต่อไปตามรูปคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๗๓/๒๕๔๕)
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า   แม้นางดวง  คำสุวรรณ  มารดาของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  และจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  ผู้เป็นบุตรได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว  ก็เป็นกรณีที่ผู้ตายทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่บิดาจะขอจดทะเบียนรับจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม  เมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่  ผู้ร้อง(บิดา)จึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศษลพิพากษาว่าจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  เป็นบุตรตนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น