วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เบียดบังทรัพย์หลังจดทะเบียนหย่า

เมื่อมีเหตุทำให้คู่สมรสอยู่ร่วมกันไม่ได้ชีวิตสมรสก็จะสิ้นสุดลงด้วยการหย่าขาดจากกันปัญหาจึงมีตามมาว่า  เมื่อกฎหมายมิได้บังคับให้สามีภริยาต้องแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสด้วยในขณะจดทะเบียนหย่า  หากสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่งกันไปขายโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบ  และไม่ได้รับความยินยอม  สัญญาซื้อขายที่ฝ่ายนั้นกระทำลงไปจะมีผลบังคับได้เพียงใด  และผู้ที่ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่นั้น  ปัญหานี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  โจทก์กับจำเลยที่ ๑  จดทะเบียนสมรสเมื่อปี  ๒๕๑๓  ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑  ระหว่างปี ๒๕๑๔ ถึง ๒๕๑๖   จำเลยที่ ๑ เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี  ๒๕๒๕  และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด  ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท. เมื่อปี ๒๕๒๖  และใส่ชื่อจำเลยที่ ๑  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว  จากนั้นจำเลยที่ ๑  กับโจทก์  ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน  โดยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่ายกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสาม  แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาที่ตนได้รับ  ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินและบ้านพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ไม่ทราบและมิได้ยินยอมด้วย
           โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินและบ้านกลับคืนให้จำเลยที่ ๑ และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๒๒ ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
          จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ  
          จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์          
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ประการแรก  บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  ที่ตกลงยกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ วรรคหนึ่ง แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา ๓๗๔ วรรคสอง กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์กับจำเลยที่ ๑  คนละครึ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ซึ่งหากฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ ๑  นำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยไปขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
          ประการที่สอง  ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๑๔  ถึง  ๒๕๑๖ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕  เดิม มาตรา ๑๔๖๖  เพราะการให้มิได้แสดงว่าให้ไว้เป็นสินส่วนตัวตามมาตรา ๑๔๖๔(๓)  และกรณีเป็นการยกให้ก่อนปี ๒๕๑๙ จึงไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙ บังคับ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี ๒๕๒๕  และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท.  เมื่อปี ๒๕๒๖  แม้จะใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๔๗๔() ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙
           ประการที่สาม  ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๒ จะทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง แต่ยังคงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๕๖๑/๒๕๔๔)
            คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ ๑  เมื่อมิได้แบ่งกันในขณะจดทะเบียนหย่าต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์  จำเลยที่ ๑  นำสินสมรสไปขายโดยที่โจทก์ไม่ทราบและไม่ยินยอมสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลบังคับเฉพาะกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ ๑  ฝ่ายที่ขายไปเท่านั้นไม่ผูกพันในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ที่ไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมด้วย และแม้นข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ ๒  ผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม  จำเลยที่ ๒  ก็ไม่อาจอ้างความสุจริตของตนเป็นข้อต่อสู้มิให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้  ดังนั้นการที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จึงชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแล้ว





ค่าทดแทนจากหญิงอื่น

ถาม  ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  เพราะตาม ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๒๓  วรรคสอง  มิได้มีเงื่อนไขว่า  ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นนั้นได้

ค่าเลี้ยงชีพระหว่างสามีภริยา

ถาม  สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย  หากประสงค์หย่าขาดจากกันมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ในกรณีใดบ้าง?
ตอบ  ๑)  กรณีเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยากจนลง  เพราะไม่มีรายได้เพียงพอจากทรัพย์สิน  หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
                        ๒)  กรณีเหตุหย่าขาดจากกันเป็นเพราะอีกฝ่ายวิกลจริต  หรือมีโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
                        ๓)  กรณีคู่หย่าตกลงชำระค่าเลี้ยงชีพกันเอง

ถาม สามีหรือภริยาฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพหากจดทะเบียนสมรสใหม่ค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นสุดไปหรือไม่?
ตอบ  สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๒๘

ฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ถาม  หญิงมีสิทธิฟ้องชายให้รับเด็กที่เกิดกับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายได้ในกรณีใดบ้าง?
ตอบ     ๑)  เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา  ฉุดคร่า  หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดา  โดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
                        ๒)  เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว  หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
                        ๓)  เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่า  เด็กนั้นเป็นบุตรของตน
                        ๔)  เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า  เด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่า  บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิด  หรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
๕)  เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
๖)  เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้  และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า  เด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
๗)  เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา

ถาม  เด็กเกิดจากหญิง(มารดา)ที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชายจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นบิดาได้ในกรณีใดบ้าง?
            ตอบ      มี    กรณี  คือ
๑)  บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง
                        ๒)  บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร
                        ๓)  ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
           

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้อควรรู้เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว

               เดิมปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว  รัฐมิได้มุ่งที่จะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด  หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  แต่มีเจตนาที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ  โดยกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติไว้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ข้อ  ๕๘๓  ซึ่งให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจในการไกล่เกลี่ย  พยายามชี้แจงตักเตือนให้เรื่องยุติ  กรณีสามีภริยากล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำร้ายร่างกาย   หากมิได้ใช้อาวุธหรือบาดเจ็บไม่ถึงสาหัส  หรือเหตุมิได้เกิดในถนนหลวง  ประกอบกับการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยมิได้มีเจตนาชั่วร้าย   หรือแม้การทำร้ายร่างกายกันระหว่างสามีภริยานั้นจะได้ใช้อาวุธ  หรือบาดเจ็บสาหัส  หรือเหตุเกิดในถนนหลวง    เว้นแต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่เข็ดหลาบและมีพฤติการณ์ว่า  จะเกิดการทำร้ายรุนแรงยิ่งขึ้นก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทุกรายนั้น  การนำมาตรการทางอาญามาใช้บังคับกับการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจึงยังไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวได้ 
                เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มีผลใช้บังคับแล้ว  ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย  จิตใจ  หรือสุขภาพ  หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย  จิตใจ  หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว  หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ  แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท  ต้องถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  โดยไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  หรือกฎหมายอื่น
                อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มิได้ให้คำจำกัดความของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไว้ว่าหมายความรวมถึงบุคคลใดบ้าง  บุคคลภายนอกครอบครัวจะกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวต่อบุคคลในครอบครัวได้หรือม่เพียงใดนั้นก็มิได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่าให้หมายความรวมถึงบุคคลภายนอกครอบครัวด้วย  แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลกรอบของการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วเห็นได้ว่า  มีเจตนารมณ์คุ้มครองบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ  และโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลในครอบครัวซึ่งก็ได้แก่  คู่สมรส  คู่สมรสเดิม  ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  บุตร  บุตรบุญธรรม  สมาชิกในครอบครัว  รวมทั้งบุคคลใดที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน  อันเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประทุษร้ายระหว่างบุคคลทั่วไป  บุคคลภายนอกครอบครัวจึงไม่น่าจะเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ได้  
มีข้อสังเกตว่า  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  บทนิยามมิได้กำหนดให้   ชู้    เป็นบุคคลในครอบครัว  แต่กำหนดให้  ผู้ที่อยู่กิน  หรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  เป็นบุคคลในครอบครัวซึ่งคำว่า  อยู่กิน  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2542  ให้ความหมายไว้ว่า  ดำรงชีวิตฉันผัวเมีย  ส่วนคำว่า  ชู้  หมายถึง  คู่รัก  บุคคลที่เป็นที่รัก  ผู้ล่วงประเวณี  การล่วงประเวณี  ชายที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา  เรียกว่า  เป็นชู้  หญิงที่ยังมีสามีอยู่แล้วร่วมประเวณีกับชายอื่น  เรียกว่า  มีชู้  เรียกชายหรือหญิงที่ใฝ่ในทางชู้สาวว่า  เจ้าชู้   มิได้หมายความถึงผู้ที่อยู่กินด้วย  ชู้  จึงไม่น่าจะเป็นบุคคลในครอบครัวอันต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัตินี้  แต่ถ้าหากเป็นกรณีสามีที่จดทะเบียนสมรส  หรือไม่จดทะเบียนสมรสกับภริยาสมัครใจดำรงชีวิตฉันผัวเมียกับหญิงอื่นเลี้ยงดูอย่างภรรยา  หรือที่เรียกว่ามี  เมียน้อย  แล้ว    หญิงอื่นผู้อยู่กินกับสามีน่าจะถือได้ว่าเป็นผู้อยู่กินตามบทนิยามนี้ด้วย   สามีผู้อยู่กินกับหญิงอื่นหากกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวก็น่าจะต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว  ส่วนหญิงอื่นผู้อยู่กิน  และภริยาจะรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ต่อกันอย่างไรนั้น  ต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวต่อกันหรือไม่  และหากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำฝ่ายนั้นก็น่าจะต้องรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน 
                เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  และการกระทำนั้นเป็นความรุนแรงในครอบครัว  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มาตรา ๕  วรรคแรก  ได้กำหนดให้  ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  หรือผู้ที่พบเห็น  หรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้  การแจ้งอาจกระทำโดยวาจา  เป็นหนังสือ  ทางโทรศัพท์  วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  หรือวิธีการอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  ในกรณีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี  พนักงานสอบสวนต้องจัดให้ร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  หรือหากไม่อยู่ในวิสัย  หรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ด้วยตนเอง  ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร้องทุกข์แทน  พนักงานสอบสวนจะอ้างระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ข้อ  ๕๘๓  ซึ่งมิใช่กฎหมายมาชี้แจง  ตักเตือน  ให้เรื่องยุติมิได้
                ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้  กำหนดให้ความผิดฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความได้  หากมิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หรือมิได้ร้องทุกข์  ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้  ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ  และหากการกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙๕  รวมอยู่ด้วย  ก็ให้ความผิดอาญาดังกล่าวนี้เป็นความผิดอันยอมความได้เช่นเดียวกัน  แต่การยอมความ  การถอนคำร้องทุกข์  หรือการถอนฟ้อง  พนักงานสอบสวน  หรือศาล  ต้องจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเป็นเงื่อนไขก่อนการยอมความ  การถอนคำร้องทุกข์  หรือการถอนฟ้อง  หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขครบถ้วนแล้วจึงให้มีการยอมความ ถอนคำร้องทุกข์  หรือถอนฟ้อง  แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืน  หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข  ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นดำเนินการต่อไป
                  การที่รัฐบัญญัติให้ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญา  โดยวางหลักเกณฑ์ให้คู่กรณีสามารถยอมความกันได้นั้นก็เพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข  อันเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดปกป้องสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง  สงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส  และการอยู่ร่วมกันของบุคคลในครอบครัว  ให้บุคคลในครอบครัวมีความปรองดองเคารพสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน  โดยคำนึงถึงความสงบสุข  การอยู่ร่วมกันของบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ  จึงเป็นหลักการแก้ไขปัญหาครอบครัวซึ่งมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนได้ถูกต้อง  และแน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้ความรุนแรงในครอบครัวไทยจะต้องลดลงในที่สุด  
                 

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ร้องเรียนวินัยสามีเกี่ยวกับชู้สาว

ร้องเรียนวินัยสามีเกี่ยวกับชู้สาว
                เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  นางหวงแหน  กับนายรักเรียนจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย  มีบุตร  2  คน  บุตรทั้งสองอยู่อาศัยกับนางหวงแหน  นางหวงแหนทราบว่านายรักเรียนคบหาหญิงอื่นฉันชู้สาว จึงได้ร้องขอให้นายรักเรียนให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น แต่นายรักเรียนไม่เชื่อฟังนางหวงแหนจึงได้มีหนังสือร้องเรียนนายรักเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นไปยังผู้บังคับบัญชาของนายรักเรียน และอาจารย์ผู้สอนนายรักเรียนในการศึกษาระดับปริญญาโท  ซึ่งนายรักเรียนก็มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
                ถาม  1.  นายรักเรียนจะอ้างเหตุที่นางหวงแหนร้องเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นต่อผู้บังคับบัญชาและอาจารย์มาเป็นเหตุฟ้องหย่าว่า นางหวงแหนกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาได้หรือไม่
                ตอบ  ไม่ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  การที่นางหวงแหนมีหนังสือร้องเรียนนายรักเรียนนั้น  เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว  นางหวงแหนในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่กระทำได้  เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนว่ากล่าวตักเตือนนายรักเรียนให้นึกถึงครอบครัว เพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวมิให้หญิงอื่นมาทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว การกระทำของนางหวงแหนจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียง  และนายรักเรียนก็ไม่ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง  การกระทำของนางหวงแหนจึงไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง  ที่จะทำให้นายรักเรียนมีสิทธิฟ้องหย่านางหวงแหนได้ตามกฎหมาย
               

ยิงขู่สามี

ยิงขู่สามี
                เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  นางหนึ่งเดียวรับราชการครู  กับนายสองใจรับราชการทหาร  จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน  มีบุตร  2  คน  แล้วจดทะเบียนหย่า  จากนั้นนางหนึ่งเดียวกับนายสองใจได้จดทะเบียนสมรสกันอีกครั้งแต่การอยู่กินเกิดระหองระแหง นายสองใจมีภารกิจทางการทหารเป็นเวลานานต้องนำบุตรไปฝากไว้ที่บ้านญาติไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่บุตรอย่างใกล้ชิด ส่วนนางหนึ่งเดียวรายได้จากเงินเดือนเหลือไม่พออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง  วันเกิดเหตุขณะนายสองใจและบุตรอยู่บ้านนายแดง  นางหนึ่งเดียวเข้ามาใช้อาวุธปืนยิงขู่นายสองใจ  2  นัด  กระสุนถูกขอบหน้าต่าง  เสา  และฝาบ้านสูงระดับศรีษะและหน้าอก  นอกจากนี้กระสุนปืนถูกสายไปฟ้าในบ้านเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับ  เหตุเพราะนายสองใจไปติดพันหญิงอื่น  นายสองใจจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีเอากับนางหนึ่งเดียวแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 
                ถาม  1.  นายสองใจจะอ้างเหตุที่นางหนึ่งเดียวใช้อาวุธปืนยิงขู่เป็นเหตุฟ้องหย่านางหนึ่งเดียวต่อศาลได้หรือไม่
                ตอบ  ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้นายสองใจจะไปติดพันหญิงอื่น กฎหมายก็ไม่ให้สิทธินางหนึ่งเดียวใช้อาวุธปืนยิงนายสองใจ ไม่ว่าจะยิงด้วยสาเหตุหึงหวง  โกรธเคือง  หรือด้วยเหตุอื่นๆ    หรือจะยิงโดยเจตนาหรือ มิได้มีเจตนาฆ่านายสองใจ  เมื่ออาวุธปืนมีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำลายชีวิตได้  นางหนึ่งเดียวก็ไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง การกระทำของนางหนึ่งเดียวที่ใช้อาวุธปืนยิงขู่นายสองใจจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถือได้ว่าเป็นเหตุหย่าตามกฎหมาย
                ถาม  2.  นางหนึ่งเดียวจะอ้างว่า การยิงขู่ของตนเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายสองใจที่เป็นฝ่ายผิดไปติดพันหญิงอื่น  การกระทำของตนไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาได้หรือไม่
             ตอบ  ไม่ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  แม้นายสองใจจะเป็นฝ่ายผิดไปติดพันหญิงอื่น  สิทธิของนางหนึ่งเดียวก็เป็นเพียงเหตุหย่าที่นางหนึ่งเดียวจะนำมาฟ้องร้องหย่าขาดเอาผิดกับนายสองใจได้เท่านั้น  ไม่ให้สิทธินางหนึ่งเดียวในการป้องกันสามีเพื่อไม่ให้ไปติดพันหญิงอื่นโดยใช้วิธีการยิงขู่
                ถาม  3.  นางหนึ่งเดียวกับนายสองใจใครจะเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
                ตอบ  นางหนึ่งเดียว  ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อนายสองใจรับราชการทหารมีภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ไม่มีเวลาเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด  และต้องนำบุตรไปฝากไว้ที่บ้านญาติ  ส่วนนางหนึ่งเดียวรับราชการเป็นครูแล้ว  ครูย่อมมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นได้ดีกว่าทหาร  ครูจึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
                ถาม 4.  นางหนึ่งเดียวกับนายสองใจใครจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
                ตอบ  นายสองใจต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง  ด้วยเหตุผลที่ว่า  รายได้จากเงินเดือนของนางหนึ่งเดียวเหลือไม่พออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคน

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดการสินสมรส

การจัดการสินสมรส

ถาม  มีกรณีใดบ้างที่สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือ  ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง?
ตอบ        ๑)  ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง 
                     อสังหาริมทรัพย์  หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
๒)    ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมด  หรือบางส่วน  ซึ่งภาระจำยอม  สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน  หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
๓)     ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
๔)    ให้กู้ยืมเงิน
๕)    ให้โดยเสน่หา  เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป  ของครอบครัวเพื่อการกุศล  เพื่อการสังคม  หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
๖)     ประนีประนอมยอมความ
๗)    มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
๘)    นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน  หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงาน  หรือศาล

ถาม  สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำสินสมรสที่เป็นรถยนต์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วไปขาย  หรือ    นำไปจำนองเป็นประกันหนี้โดยลำพังผู้เดียวจะได้หรือไม่?

ตอบ       สินสมรสที่เป็นรถยนต์แต่เดิมไม่อาจนำไปจำนองได้  การจัดการสินสมรสที่เป็นรถยนต์จึงไม่ต้องจัดการร่วมกัน  หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อพระราชบัญญัติรถยนต์  (ฉบับที่ ๑๕)  พ.ศ.  ๒๕๕๑  มีผลบังคับใช้  และกำหนดให้รถยนต์เป็นทรัพย์สินประเภทที่จำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว  สามีหรือภริยาฝ่ายใดจะนำไปขายหรือจำนองจึงต้องจัดการร่วมกัน  หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน

ค่าทดแทนกรณีสามีเป็นชู้ หรือภริยามีชู้

ค่าทดแทนกรณีสามีเป็นชู้  หรือภริยามีชู้

ถาม  สามีเป็นชู้กับภริยาของบุคคลอื่น  ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและภริยาของ
         บุคคลอื่นโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีได้หรือไม่?
ตอบ  ไม่ได้  เพราะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1523  วรรคแรกบังคับให้ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีด้วย  และเมื่อศาลพิพากษาให้ภริยาหย่าขาดจากสามี  ภริยาจึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีและภริยาของบุคคลอื่น 
               
ถาม   ภริยามีชู้  สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชายชู้  โดยไม่ต้องฟ้องหย่าภริยาได้หรือไม่?
ตอบ  ไม่ได้  เนื่องจากว่า  ป.พ.พ.  มาตรา  1523  วรรคแรก  บังคับให้สามีต้องฟ้องหย่า
ภริยาด้วย  และเมื่อศาลพิพากษาให้สามีหย่าขาดจากภริยา  สามีจึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากภริยาและชายชู้ 


ถาม  ภริยามีชู้  สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้โดยไม่ต้องฟ้องหย่าภริยาด้วยได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  ป.พ.พ. มาตรา  1523  วรรคสอง  กำหนดให้สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวได้โดยไม่จำต้องฟ้องหย่าภริยาเพราะการล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวนั้นมีความหมายรวมถึงการทำชู้(ร่วมประเวณี)  ด้วย 


การขอให้แยกสินสมรสหรือจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว

การขอให้แยกสินสมรสหรือจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว

ถาม  สามีหรือภริยาจะร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรส  หรือขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งก่อนได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  หากสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการดังต่อไปนี้
๑)      จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
๒)    ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
๓)    มีหนี้สินล้นพ้นตัว  หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
๔)    ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
๕)    มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส