วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557


“พนัยกรรมไม่มีผลบังคับถึงสินสมรส”

 

            ท่านผู้อ่านครับสามีหรือภริยาจะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน  หรือในการต่างๆอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายไปแล้วก็ได้ในสินส่วนตัว  แต่สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการการทำพินัยกรรมของสามีหรือภริยา  ในส่วนที่เป็นสินสมรสนี้  ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า  สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้

            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า  โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่  ๒๗  พฤษภาคม  ๒๕๒๖  แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่  ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๕  ในระหว่างอยู่กินด้วยกันมีที่ดินพิพาท  ๒ แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่    และ   ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี  และบ้านเลขที่  ๘๘๙  หมู่    ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว

ต่อมาวันที่    เมษายน  ๒๕๓๔  นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่   ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๒ ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่   เมษายน  ๒๕๓๕ โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง   แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๐๘๐  และ  ๒๖๐๘๑  ครั้นถึงวันที่  ๑๑  ตุลาคม  ๒๕๓๖  นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ ๑ ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ ๑  โจทก์จึงขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยที่ ๑  และจำเลยที่ ๒  แต่จำเลยทั้งสองไม่ยินยอมแบ่งโจทก์จึงนำเรื่องนี้ฟ้องต่อศาล

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ โจทก์กับนายเรียนได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ต่อมานายเรียนได้ถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ทำการแบ่งสินสมร จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนายเรียนเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้ทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่แบ่งปันสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำสินสมรสตามฟ้องมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสองหากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์สินได้ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำสินสมรสมาแบ่งให้แก่โจทก์ได้ดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาทรัพย์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒,๐๖๑,๒๗๕  บาท

          จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้อง นายเรียนได้ยกให้จำเลยทั้งสองแล้วในระหว่างโจทก์กับนายเรียนยังเป็นสามีภริยากัน โดยโจทก์ทราบดีแล้ว ถือว่าได้ให้สัตยาบันแล้ว สำหรับบ้านเลขที่  ๘๘๙  นั้น นายเรียนได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ ๑  เมื่อวันที่ ๓๐  เมษายน  ๒๕๓๖  โจทก์ทราบดีและเคยคัดค้านแต่ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจคัดค้านและให้สัตยาบันแล้วราคาทรัพย์สินคิดตามเป็นจริง ที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งปัจจุบันออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วทั้งสองแปลงหักส่วนที่จำเลยที่ ๒ โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไป  ๑๔ ไร่ คงเหลือเพียง  ๑๐๗  ไร่   งาน  ๔๒  ตารางวา  มีราคารวม  ๑,๐๗๓,๔๒๐  บาท บ้านมีราคา  ๕๐๐,๐๐๐  บาท จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง  ๗๘๖,๗๑๐ บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑  แบ่งบ้านเลขที่  ๘๘๙  หมู่ ๑  ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ โต๊ะรับแขก อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบ้านให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งและให้จำเลยที่ ๒  แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่  ๒๖๘๐  และ  ๒๖๘๑ตำบลเข้าไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่    และที่   หากไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  และกับจำเลยที่ ๒  หากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ให้เอาทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  และกับจำเลยที่ ๒  คนละครึ่ง คำขออื่นให้ยก

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค ๑  พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์และจำเลยที่ ๑  ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายเรียน วงศ์สมบูรณ์ อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖  แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๕  ที่ดินพิพาท    แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.)  เลขที่ ๖  และ ๗  ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านเลขที่ ๘๘๙ หมู่ ๑ ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่   เมษายน  ๒๕๓๔  นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ ๒  ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ ๒  ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง   แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ พันธุ์กิติยะ ในวันที่   เมษายน  ๒๕๓๕ โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง   แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๐๘๐  และ  ๒๖๐๘๑  ครั้นถึงวันที่  ๑๑  ตุลาคม  ๒๕๓๖ นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ ๑  ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ ๑  แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ ๒  แบ่งที่ดินพิพาททั้ง   แปลง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนายเรียนกับจำเลยที่   ก่อนนั้น เห็นว่า การที่นายเรียนให้ที่ดินทั้ง   แปลงโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ ๒  เป็นกรณีที่นายเรียนจัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖(๕)  และ ๑๔๗๙   เมื่อนายเรียนให้ที่ดินพิพาททั้ง   แปลง แก่จำเลยที่ ๒  โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา   ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่นายเรียนจดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยที่ ๒  หรือภายใน  ๑๐  ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๘๐  เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ที่ดินทั้ง    แปลง จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒  การที่จำเลยที่ ๒  ครอบครองที่ดินทั้ง  ๒ แปลงมิใช่เป็นการครอบครองในฐานะทายาทของนายเรียนที่จะต้องมีหน้าที่แบ่งสินสมรสให้โจทก์แทนนายเรียน แต่จำเลยที่ ๒  ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จากนายเรียน จำเลยที่ ๒  จึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสของนายเรียนให้โจทก์

          ที่จำเลยที่ ๑  ฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียนที่ยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑  ภายใน   ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้บ้านเลขที่  ๘๘๙  จะเป็นสินสมรสระหว่างนายเรียนกับโจทก์  แต่ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ให้แก่จำเลยที่ ๑  มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่นายเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคหนึ่ง นายเรียนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ที่นายเรียนมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ ๑ ได้ตามมาตรา  ๑๔๗๖ วรรคสอง  แต่นายเรียนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่๘๘๙  อีกครึ่งหนึ่งของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑  ได้ เพราะบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง  ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่  ๘๘๙  ทั้งหลังให้แก่จำเลยที่ ๑  จึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์  โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิเว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งบ้านเลขที่  ๘๘๙  อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียนได้ โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียน พิพากษายืน  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๕๔๔/๒๕๔๒)

คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า การทำพินัยกรรม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคหนึ่ง แม้ ร.  มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่าง  ร.  กับโจทก์ที่  ร.  มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๔๗๖  วรรคสอง ได้ก็ตาม  แต่  ร.  ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้

ดังนั้น  การที่ ร. ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ของ ร. ก่อนแต่อย่างใด  อนึ่ง  การทำพินัยกรรมในส่วนสินสมรสนี้  แม้นว่าสามีหรือภริยาผู้ทำพินัยกรรมจะให้ความยินยอมในการทำพินัยกรรม  โดยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกสินสมรสของตนให้แก่บุคคลใดได้ก็ตาม  การทำพินัยกรรมของสามีหรือภริยานั้น  ก็ไม่ผูกพันสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมด้วยไม่  

การปฏิบัติต่อเด็ก

 

ถาม  การกระทำใดบ้างที่กฎหมายห้ามมิให้กระทำต่อเด็ก  และหากฝ่าฝืนจะได้รับโทษหรือไม่เพียงใด?

ตอบ  พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก  พ.ศ. ๒๕๔๖  ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติต่อเด็ก(บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส)ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ดังต่อไปนี้ครับ

(๑) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๒) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๓) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

(๔) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว

(๕) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(๖) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

(๗) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(๘) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(๙) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(๑๐) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

หากผู้ใดฝ่าฝืนตามข้อ (๑)  ถึงข้อ (๑๐)  กฎหมายบอกว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และถ้าการกระทำความผิดข้างต้นมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้นครับๆๆ