วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ร้องเรียนวินัยสามีเกี่ยวกับชู้สาว

ร้องเรียนวินัยสามีเกี่ยวกับชู้สาว
                เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  นางหวงแหน  กับนายรักเรียนจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย  มีบุตร  2  คน  บุตรทั้งสองอยู่อาศัยกับนางหวงแหน  นางหวงแหนทราบว่านายรักเรียนคบหาหญิงอื่นฉันชู้สาว จึงได้ร้องขอให้นายรักเรียนให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น แต่นายรักเรียนไม่เชื่อฟังนางหวงแหนจึงได้มีหนังสือร้องเรียนนายรักเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นไปยังผู้บังคับบัญชาของนายรักเรียน และอาจารย์ผู้สอนนายรักเรียนในการศึกษาระดับปริญญาโท  ซึ่งนายรักเรียนก็มิได้ถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง
                ถาม  1.  นายรักเรียนจะอ้างเหตุที่นางหวงแหนร้องเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหญิงอื่นต่อผู้บังคับบัญชาและอาจารย์มาเป็นเหตุฟ้องหย่าว่า นางหวงแหนกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาได้หรือไม่
                ตอบ  ไม่ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  การที่นางหวงแหนมีหนังสือร้องเรียนนายรักเรียนนั้น  เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว  นางหวงแหนในฐานะภริยาย่อมมีความรักและหึงหวงสามีมีสิทธิที่กระทำได้  เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและอาจารย์ผู้สอนว่ากล่าวตักเตือนนายรักเรียนให้นึกถึงครอบครัว เพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวมิให้หญิงอื่นมาทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว การกระทำของนางหวงแหนจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประจานให้ต้องอับอายเสียชื่อเสียง  และนายรักเรียนก็ไม่ถูกดำเนินการทางวินัยร้ายแรง  การกระทำของนางหวงแหนจึงไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง  ที่จะทำให้นายรักเรียนมีสิทธิฟ้องหย่านางหวงแหนได้ตามกฎหมาย
               

ยิงขู่สามี

ยิงขู่สามี
                เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  นางหนึ่งเดียวรับราชการครู  กับนายสองใจรับราชการทหาร  จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน  มีบุตร  2  คน  แล้วจดทะเบียนหย่า  จากนั้นนางหนึ่งเดียวกับนายสองใจได้จดทะเบียนสมรสกันอีกครั้งแต่การอยู่กินเกิดระหองระแหง นายสองใจมีภารกิจทางการทหารเป็นเวลานานต้องนำบุตรไปฝากไว้ที่บ้านญาติไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่บุตรอย่างใกล้ชิด ส่วนนางหนึ่งเดียวรายได้จากเงินเดือนเหลือไม่พออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง  วันเกิดเหตุขณะนายสองใจและบุตรอยู่บ้านนายแดง  นางหนึ่งเดียวเข้ามาใช้อาวุธปืนยิงขู่นายสองใจ  2  นัด  กระสุนถูกขอบหน้าต่าง  เสา  และฝาบ้านสูงระดับศรีษะและหน้าอก  นอกจากนี้กระสุนปืนถูกสายไปฟ้าในบ้านเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับ  เหตุเพราะนายสองใจไปติดพันหญิงอื่น  นายสองใจจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีเอากับนางหนึ่งเดียวแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 
                ถาม  1.  นายสองใจจะอ้างเหตุที่นางหนึ่งเดียวใช้อาวุธปืนยิงขู่เป็นเหตุฟ้องหย่านางหนึ่งเดียวต่อศาลได้หรือไม่
                ตอบ  ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้นายสองใจจะไปติดพันหญิงอื่น กฎหมายก็ไม่ให้สิทธินางหนึ่งเดียวใช้อาวุธปืนยิงนายสองใจ ไม่ว่าจะยิงด้วยสาเหตุหึงหวง  โกรธเคือง  หรือด้วยเหตุอื่นๆ    หรือจะยิงโดยเจตนาหรือ มิได้มีเจตนาฆ่านายสองใจ  เมื่ออาวุธปืนมีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำลายชีวิตได้  นางหนึ่งเดียวก็ไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง การกระทำของนางหนึ่งเดียวที่ใช้อาวุธปืนยิงขู่นายสองใจจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถือได้ว่าเป็นเหตุหย่าตามกฎหมาย
                ถาม  2.  นางหนึ่งเดียวจะอ้างว่า การยิงขู่ของตนเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายสองใจที่เป็นฝ่ายผิดไปติดพันหญิงอื่น  การกระทำของตนไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาได้หรือไม่
             ตอบ  ไม่ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  แม้นายสองใจจะเป็นฝ่ายผิดไปติดพันหญิงอื่น  สิทธิของนางหนึ่งเดียวก็เป็นเพียงเหตุหย่าที่นางหนึ่งเดียวจะนำมาฟ้องร้องหย่าขาดเอาผิดกับนายสองใจได้เท่านั้น  ไม่ให้สิทธินางหนึ่งเดียวในการป้องกันสามีเพื่อไม่ให้ไปติดพันหญิงอื่นโดยใช้วิธีการยิงขู่
                ถาม  3.  นางหนึ่งเดียวกับนายสองใจใครจะเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
                ตอบ  นางหนึ่งเดียว  ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อนายสองใจรับราชการทหารมีภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  ไม่มีเวลาเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด  และต้องนำบุตรไปฝากไว้ที่บ้านญาติ  ส่วนนางหนึ่งเดียวรับราชการเป็นครูแล้ว  ครูย่อมมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นได้ดีกว่าทหาร  ครูจึงเป็นผู้เหมาะสมที่จะใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
                ถาม 4.  นางหนึ่งเดียวกับนายสองใจใครจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
                ตอบ  นายสองใจต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง  ด้วยเหตุผลที่ว่า  รายได้จากเงินเดือนของนางหนึ่งเดียวเหลือไม่พออุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคน

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดการสินสมรส

การจัดการสินสมรส

ถาม  มีกรณีใดบ้างที่สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือ  ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง?
ตอบ        ๑)  ขาย  แลกเปลี่ยน  ขายฝาก  ให้เช่าซื้อ  จำนอง  ปลดจำนอง  หรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง 
                     อสังหาริมทรัพย์  หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
๒)    ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมด  หรือบางส่วน  ซึ่งภาระจำยอม  สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน  หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
๓)     ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
๔)    ให้กู้ยืมเงิน
๕)    ให้โดยเสน่หา  เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป  ของครอบครัวเพื่อการกุศล  เพื่อการสังคม  หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
๖)     ประนีประนอมยอมความ
๗)    มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
๘)    นำทรัพย์สินไปเป็นประกัน  หรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงาน  หรือศาล

ถาม  สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำสินสมรสที่เป็นรถยนต์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วไปขาย  หรือ    นำไปจำนองเป็นประกันหนี้โดยลำพังผู้เดียวจะได้หรือไม่?

ตอบ       สินสมรสที่เป็นรถยนต์แต่เดิมไม่อาจนำไปจำนองได้  การจัดการสินสมรสที่เป็นรถยนต์จึงไม่ต้องจัดการร่วมกัน  หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อพระราชบัญญัติรถยนต์  (ฉบับที่ ๑๕)  พ.ศ.  ๒๕๕๑  มีผลบังคับใช้  และกำหนดให้รถยนต์เป็นทรัพย์สินประเภทที่จำนองเป็นประกันหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว  สามีหรือภริยาฝ่ายใดจะนำไปขายหรือจำนองจึงต้องจัดการร่วมกัน  หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน

ค่าทดแทนกรณีสามีเป็นชู้ หรือภริยามีชู้

ค่าทดแทนกรณีสามีเป็นชู้  หรือภริยามีชู้

ถาม  สามีเป็นชู้กับภริยาของบุคคลอื่น  ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากสามีและภริยาของ
         บุคคลอื่นโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีได้หรือไม่?
ตอบ  ไม่ได้  เพราะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1523  วรรคแรกบังคับให้ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีด้วย  และเมื่อศาลพิพากษาให้ภริยาหย่าขาดจากสามี  ภริยาจึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีและภริยาของบุคคลอื่น 
               
ถาม   ภริยามีชู้  สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและชายชู้  โดยไม่ต้องฟ้องหย่าภริยาได้หรือไม่?
ตอบ  ไม่ได้  เนื่องจากว่า  ป.พ.พ.  มาตรา  1523  วรรคแรก  บังคับให้สามีต้องฟ้องหย่า
ภริยาด้วย  และเมื่อศาลพิพากษาให้สามีหย่าขาดจากภริยา  สามีจึงจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากภริยาและชายชู้ 


ถาม  ภริยามีชู้  สามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้โดยไม่ต้องฟ้องหย่าภริยาด้วยได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  ป.พ.พ. มาตรา  1523  วรรคสอง  กำหนดให้สามีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวได้โดยไม่จำต้องฟ้องหย่าภริยาเพราะการล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวนั้นมีความหมายรวมถึงการทำชู้(ร่วมประเวณี)  ด้วย 


การขอให้แยกสินสมรสหรือจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว

การขอให้แยกสินสมรสหรือจัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว

ถาม  สามีหรือภริยาจะร้องขอต่อศาลให้สั่งแยกสินสมรส  หรือขอเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งก่อนได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  หากสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการดังต่อไปนี้
๑)      จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
๒)    ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
๓)    มีหนี้สินล้นพ้นตัว  หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
๔)    ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
๕)    มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส