วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

สิ้นสุดสมรสด้วย “การหย่า”

        
            เมื่อชีวิตสมรสแตกสลายสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หรือทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไปอีกแล้ว  โดยทั่วๆไปย่อมเป็นที่แน่นอนว่าความรักความสัมพันธ์อันดีต่อกันก็จะต้องเสื่อมทรามลงไม่สามารถกลับคืนมาได้ดังเดิม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๑๔  และมาตรา  ๑๕๑๖  จึงเปิดโอกาสให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเสียในระหว่างสมรสถึงแม้ว่าการหย่านั้นจะทำให้เกิดความขมขื่นโศกเศร้าเสียใจแก่สามีภริยาก็ตาม  แต่ก็ยังดีกว่าการทรมานร่างกายและจิตใจของสามีภริยาสองฝ่ายไปตลอดชีวิตทั้งๆที่หมดรักกันแล้ว   
            บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์การหย่าไว้ให้สามีภริยาเลือกที่จะใช้สิทธิหย่าด้วยกันถึงสองแบบ  แบบแรก  หย่าโดยความยินยอมของสามีภริยาทั้งสองฝ่าย  แบบที่สอง  หย่าโดยคำพิพากษา
            การหย่าโดยความยินยอมนั้น  เพียงแต่สามีภริยาทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนรู้เห็นก็เป็นอันใช้ได้  และการหย่านี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนแล้ว
            ส่วนการหย่าโดยคำพิพากษานั้นต้องมีเหตุหย่าตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้  ศาลจึงจะพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันได้  เหตุฟ้องหย่าดังกล่าวก็ได้แก่
๑)      สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู  หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้  หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
๒)   สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว  ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่  ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป  หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
๓)    สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งทั้งนี้ต้องเป็นการร้ายแรง
๔)    สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
๕)   สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดให้จำคุก  และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด  หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น  และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้ อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความเสียหาย  หรือเดือดร้อนเกินควร
๖)     สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี  หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี
๗)   สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  หรือไปจากภูมิลำเนา  หรือถิ่นที่อยู่ เป็นเวลาเกินสามปี  โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
๘)    สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร  หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้น ถึงขนาดที่ อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร  ในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะ  และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
๙)     สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี  และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้  กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
๑๐)            สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้ เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ
๑๑)            สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง  อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง  และ โรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
๑๒)  สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล 

การหย่าทั้งสองแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  จะมีได้ก็แต่สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรส
กันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  และจะเลือกหย่าแบบใดก็ได้มีผลสมบูรณ์เป็นการหย่าตามกฎหมายเหมือนกัน  หากเป็นการหย่าด้วยความสมัครใจของสามีภริยาทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ยุ่งยากนัก  เพียงสามีภริยาไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียนก็เป็นอันเลิกเป็นผัวเมียกันตามกฎหมายนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป  แต่ถ้าหากสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจที่จะหย่ากับอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว  อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องใช้สิทธิทางศาลฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายหย่าขาดกับตนตามเหตุหย่าข้อใดข้อหนึ่งในสิบสองข้อ  ก็เป็นอันเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันได้  และจะมีผลเป็นการหย่าก็ต่อเมื่อคำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น