วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บิดามารดาจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์

ถาม  บิดามารดาจะทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้หรือไม่  และมีกรณีใดบ้างที่บิดามารดาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้?

ตอบ  การจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์  บิดามารดาสามารถกระทำได้เสมอแต่ต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ  เนื่องจากการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์มีผลกระทบต่อผู้เยาว์  กฎหมายจึงกำหนดให้นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้  บิดามารดาจะกระทำได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  อาทิ

          (๑) ขายแลกเปลี่ยนขายฝากให้เช่าซื้อจำนองปลดจำนองหรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
           (๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
           (๓) ก่อตั้งภาระจำยอมสิทธิอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินสิทธิเก็บกินภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
           (๔) จำหน่ายไปทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่ง สิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือ สิทธิเรียกร้อง ที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
           (๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
           (๖) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผล ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
           (๗) ให้กู้ยืมเงิน
           (๘) ให้โดยเสน่หาเว้นแต่ จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะเพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
            (๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันหรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
            (๑๐) ประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็น ผู้รับชำระหนี้ ของ บุคคลอื่น หรือแทน บุคคลอื่น
            (๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
- ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือ พันธบัตร ที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
- รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรกแต่ จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งของราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
- ฝากประจำในธนาคาร ที่ได้ตั้งขึ้น โดยกฎหมาย หรือที่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบกิจการ ในราชอาณาจักร
           (๑๒) ประนีประนอมยอมความ
           (๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น