วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ข้อตกลงแบ่งสินสมรส”

            ท่านผู้อ่านครับคู่สามีภริยาจะตกลงทำการหย่ากัน  โดยทำบันทึกตกลงกันเองเป็นหนังสือก็สามารถทำได้  และเมื่อตกลงหย่าขาดจากกันแล้วกฎหมายยังให้สิทธิสามีภริยาแบ่งสินสมรสกันไปในคราวเดียวกันได้ด้วย  โดยการแบ่งสินสมรสนั้นให้ฝ่ายชายและหญิงได้ส่วนในสินสมรสเท่าๆกัน  มุมกฎหมายฉบับนี้ผู้เขียนจะนำเอาเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงหย่า  กรณีที่คู่สามีภริยาตกลงหย่ากันเองแล้วทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าว่า  “ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง”  นั้น  มีผลทางกฎหมายอย่างไร  และเมื่อในระหว่างผ่อนชำระยังไม่เสร็จสิ้นสามี  กลับนำเอาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินไปขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา  ภริยามีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการขายได้หรือไม่  เรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วครับ
            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า  โจทก์ร่วมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย  เมื่อวันที่    มีนาคม  ๒๕๒๗  ต่อมาเมื่อวันที่    ตุลาคม  ๒๕๓๖  โจทก์ร่วมซื้อทาวเฮ้าส์  เลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๑/๘๙๙  ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๒๗๓๓  จากบริษัทแสนชัยพล  ดีเวลล็อปเม้นท์  จำกัด  โดยการซื้อได้รับความยินยอมจากจำเลย  และโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์สินเคหการ จำกัด  ต่อมาวันที่  ๒๔  พฤศจิกายน  ๒๕๓๘  โจทก์ร่วมจดทะเบียนหย่ากับจำเลย  และทำบันทึกด้านหลังทะเบียนหย่าว่า  เรื่องทรัพย์สินที่ดิน  ๒๑  ตารางวา  พร้อมบ้านเลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง
            ต่อมาวันที่  ๒๔  มกราคม  ๒๕๔๐  โจทก์ร่วมได้ขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวในราคา  ๒,๐๐๐,๐๐๐  บาท  ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย  แล้วโจทก์นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์  ต่อมาเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์ร่วม  โจทก์  และจำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ในทาวน์เฮาส์ที่ไม่ยอมออกจากทาวน์เฮาส์  โจทก์จึงฟ้องขับไล่ขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากทาวน์เฮาส์ และที่ดินที่ตนซื้อมาจากโจทก์ร่วม(สามีจำเลย)
            จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทระหว่างโจทก์กับนายวุฒิไกร(สามีจำเลย)เฉพาะส่วนของ จำเลย ให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นให้ใช้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยจะได้รับชำระแล้วเสร็จ
          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
          ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายวุฒิไกร เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓)  ศาลชั้นต้นอนุญาต
          โจทก์ร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์กับโจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๗๓๓ ตำบลบางขุนศรี (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมทาว์น์เฮาส์พิพาทเลขที่ ๑๖๑/๘๙๙  เป็นของจำเลยกึ่งหนึ่ง หากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ (ที่ถูกค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ)
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐  บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา  ศาลฎีกาเห็นว่า  คดีนี้มีประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาตามคำฎีกาของโจทก์ว่า  บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าที่เขียนไว้ว่า  เรื่องทรัพย์สินที่ดิน  ๒๑  ตารางวา  พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่  ๑๖๑/๘๙๙  ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ซึ่งหากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง  มีความหมายว่า  ให้ทรัพย์สินพิพาทตกเป็นของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือไม่  ในระหว่างผ่อนชำระ  หากตกเป็นของโจทก์ร่วม  โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาทหรือไม่  และจำเลยมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้หรือไม่เพียงใด
ศาลฎีกาแปลความหมายของข้อตกลงนี้ว่า
ประการแรก  เห็นว่า  ข้อตกลงไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า  จำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด  เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว  โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น
ประการที่สอง  เห็นว่า  เมื่อข้อตกลงไม่มีข้อความใดแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ว่า  จำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด    การแบ่งสินสมรสจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๓ ที่บัญญัติว่า ให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน คือ  คนละกึ่งหนึ่ง  เมื่อข้อตกลงหลังทะเบียนหย่า  ไม่มีข้อตกลงในการแบ่งแยกสินสมรสกันไว้  โจทก์ร่วมและจำเลยจึงยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินพิพาทคนละส่วนเท่าๆกันในทุกส่วนของทรัพย์สินพิพาท
ประการที่สาม  เห็นว่า  เมื่อโจทก์ร่วมนำที่ดินและทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งแยกกันไว้ขณะทำบันทึกท้ายทะเบียนหย่าไปขาย  ซึ่งจำเลยยังคงมีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์ร่วม  โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย  สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ร่วมกับโจทก์  จึงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเท่านั้นไม่ผูกพันจำเลย
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับจำเลยในทุกส่วนแล้ว  โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาท  ส่วนจำเลยมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮาส์ระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วม  ในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙๖๐/๒๕๕๒)
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่กล่าวมาสรุปได้ว่า  ก่อนที่จะทำบันทึกแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาไว้ในท้ายทะเบียนหย่า  หรือทำข้อตกลงกันเองก็ต้องระบุกันไว้ให้ชัดเจนว่า  ใครได้กรรมสิทธิ์ในสินสมรสระหว่างที่ยังผ่อนชำระไม่เสร็จสิ้น  และหากจะต้องขายในระหว่างผ่อนคู่สามีภริยาจะต้องแบ่งกันอย่างไร  เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  หากเพียงบันทึกตกลงว่า  “ที่ดินและทาวน์เฮาส์เมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง”  นั้น  ผลทางกฎหมายก็มีเพียงว่า  ฝ่ายหญิงมิได้ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทในส่วนของตนทั้งหมดให้โจทก์ร่วม  ในระหว่างผ่อนชำระกับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จำกัด  ดังนั้น  กรรมสิทธิ์ในที่ดินและทาวน์เฮาส์พิพาท  จึงยังคงเป็นของโจทก์ร่วมและจำเลยร่วมกันในระหว่างผ่อนชำระ  หาใช่ที่ดินและทาวน์เฮาส์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น