วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทำสัญญากู้แทนการให้สินสอด
โดย...นาวิน  วังคีรี น.บ. , น.ม.
หัวหน้าฝ่ายกฎหมายสมาคมเสริมสร้างครอบครัวฯ


            ท่านผู้อ่านครับ  สินสอด  ตามประเพณีไทยเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้เพื่อเป็นการตอบแทนที่หญิงยอมสมรส  ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง  หรือมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ชายไม่สมควร  หรือไม่อาจสมรสกับหญิงได้นั้น  กฎหมายได้กำหนดไว้ให้ฝ่ายชายมีสิทธิที่จะเรียกสินสอดคืนได้  สินสอดจึงเป็นทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น  เงิน  ทอง  หรือสิทธิเรียกร้องที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดา  ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง  เพื่อตอบแทนในการที่หญิงยอมสมรส  เมื่อมีการตกลงให้สินสอดแก่กันแล้ว  แม้นตกลงกันด้วยวาจาก็ถือได้ว่าสมบูรณ์มีผลบังคับได้  โดยการตกลงไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ส่วนการมอบทรัพย์สินที่เป็นสินสอดสินสอดให้แก่กัน  ไม่จำต้องมอบให้ในขณะทำสัญญาจะมอบในเวลาใดๆ  และจะเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยทำเป็นสัญญากู้ไว้แทนก็ได้มีผลบังคับได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับการให้สินสอดแก่กันโดยแปลงหนี้ใหม่มาเป็นเงินในสัญญากู้นี้  ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า  คู่กรณีสามารถทำสัญญากู้แทนการให้สินสอดแก่กันได้  โดยในสัญญาจะกำหนดให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้รับเงินสินสอดที่แปลงหนี้ใหม่มาเป็นเงินกู้แทนมารดาตามสัญญากู้ก็ได้  ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
            ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าจำเลยกับนางจิตรมารดาโจทก์ได้จัดให้มีการแต่งงานระหว่างนายวิชาญ บุตรชายจำเลยกับโจทก์ โดยนางจิตรเรียกเงินค่าสินสอดจากจำเลย จำนวน   ๘,๐๐๐บาท ครั้นถึงวันทำพิธีแต่งงานจำเลยบอกนางจิตรว่าจัดหาเงินสินสอดไม่ทัน ขอให้ทำพิธีแต่งงานไปก่อน และจะนำเงินค่าสินสอดมาให้ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อมิให้เสียพิธีแต่งงานนางจิตรได้ยินยอมให้จำเลยเลื่อนการให้สินสอดออกไป
ครั้นถึงกำหนดจำเลยมาบอกนางจิตรว่า จัดหาเงินค่าสินสอดไม่ทันขอแปลงหนี้ ใหม่โดยขอทำเป็นสัญญากู้ไว้และขอผัดชำระเงินภายใน ๑๙ เดือน นางจิตร ยินยอมให้จำเลยขยายเวลาได้อีกแต่ขอโอนเงินดังกล่าวให้โจทก์จำเลยตกลงและทำสัญญากู้ทั้งยอมเสียดอกเบี้ยตามกฎหมายให้โจทก์ยึดถือไว้ ภายหลังจากแต่งงานมารดาโจทก์ได้เคยเตือนให้โจทก์และนายวิชาญไปจดทะเบียนสมรส  แต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนสมรสกัน  โดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้ ครั้นอยู่ด้วยกัน๓  เดือน ก็มีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ต่อมาเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้ที่จำเลยได้ให้สัญญาไว้  จำเลยก็ดื้อแพ่งไม่ยอมชำระเงินตามสัญญา และเวลาได้ล่วงเลยมานานมากแล้วโจทก์จึงได้ทวงถามจำเลยแต่ก็เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน  ๘,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
          จำเลยให้การว่าไม่เคยจัดให้มีการแต่งงานระหว่างนายวิชาญกับโจทก์มารดาโจทก์ไม่เคยเรียกเงินสินสอดจำเลยไม่เคยรับจะชำระเงินสินสอด โจทก์กับนายวิชาญ  ไปอยู่กินร่วมกันเองจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้ให้โจทก์ ลายเซ็นชื่อในสัญญาไม่ใช่ของจำเลยหากเป็นลายเซ็นชื่อของจำเลย จำเลยก็ถูกหลอกลวงให้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญการสมรสตามกฎหมายมิได้มีขึ้นหากมีการตกลงจะให้ทรัพย์ก็ไม่มีลักษณะเป็นสินสอดตามกฎหมายกรณีเป็นเพียงการจะให้ทรัพย์โดยเสน่หาเท่านั้น ซึ่งฟ้องร้องบังคับกันมิได้ทั้งมูลหนี้ก็หาได้มีอยู่ไม่หรือมีก็ไม่สมบูรณ์
           ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  ๘,๐๐๐  บาท  พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไว้จริงและแทนเงินสินสอดซึ่งมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้แก่มารดาโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าอันสินสอดนี้ตามกฎหมายเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ทั้งศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าหากมีข้อตกลงจะให้สินสอดต่อกันแล้วการให้สินสอดภายหลังการสมรสย่อมทำได้เพราะไม่มีอะไรห้ามซึ่งไม่เหมือนกับของหมั้นอันจะต้องให้กันในเวลาทำสัญญาหมั้นคือก่อนสมรส
ฉะนั้น  เมื่อบิดามารดาโจทก์จัดให้โจทก์และนายวิชาญทำพิธีแต่งงานกันและโจทก์เต็มใจยอมสมรสแล้วมารดาโจทก์ยังได้เตือนให้โจทก์และนายวิชาญ ไปจดทะเบียนสมรสอีกแต่ทั้งสองคนละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียน โดยว่าจะไปจดวันหลังก็ได้  ครั้นอยู่ด้วยกัน๓  เดือน ก็มีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไปโดยไม่ได้จดทะเบียนเช่นนี้จะถือว่าฝ่ายหญิงผิดสัญญาฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ ชายเรียกสินสอดคืนไม่ได้สัญญากู้ตามเอกสารศาลหมายจ.๑  จึงมีมูลหนี้เนื่องมาจากเงินสินสอดดังกล่าวอันเป็นมูลหนี้ชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อบิดามารดาโจทก์ได้ตกลงยกให้โจทก์  และจำเลยยินยอมทำสัญญากับโจทก์เพราะมูลหนี้อันนี้แล้ว จำเลยย่อมต้องถูกผูกพันให้รับผิดตามสัญญากู้เงินที่แปลงหนี้ใหม่ ตามเอกสารศาลหมายจ. ๑ ทุกประการ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๗๘/๒๕๑๘)
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า  ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดนั้นสามารถแปลงหนี้ใหม่  ให้เป็นหนี้เงินกู้แทนกันได้  เมื่อศาลฎีกาวางหลักไว้เช่นนี้แล้ว  ฝ่ายชายที่ยังหาสินสอดไม่ได้อ่านแล้วคงจะสบายใจขึ้นพอมีหนทางที่จะไปพูดคุยกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง  และขอทำสัญญากู้เงินไว้แทนสินสอดได้  แต่นั่นคงเป็นหนทางสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และไม่น่าจะมีใครเขาทำกันในขณะไปขอบุตรสาว  โดยขอทำสัญญากู้ไว้แทนสินสอดตอบแทนบิดามารดา  ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่ยอมสมรสกับตน  หากทำอย่างนั้นคงต้องถูกไล่ตะเพิดออกจากบ้านอย่างแน่นอน
ดังนั้น  การทำสัญญากู้แทนสินสอดในความเป็นจริงแล้วทำได้ยาก  หากบิดามารดาของฝ่ายหญิงไม่ตกลงยินยอมด้วยอย่างนี้ฝ่ายชายคงต้องร้องเพลงรอกันต่อไปอีกนานกว่าจะได้แต่ง  และเมื่อตกลงให้สินสอดและแต่งงานกันแล้ว  ต่อมาไม่มีการจดทะเบียนสมรสโดยฝ่ายชายและฝ่ายหญิงละเลยไม่ดำเนินการจดทะเบียนสมรสตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น(ทั้งชายและหญิงตกลงจะไปจดทะเบียนกันในวันหลัง)  หลังจากนั้นเมื่อมีเหตุให้ต้องเลิกร้างกันไป  ในส่วนของฝ่ายชายซึ่งมีส่วนผิดอยู่ด้วย  จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกสินสอดคืนได้  เว้นเสียแต่ว่าเหตุที่ทำให้ไม่มีการสมรส  (จดทะเบียนสมรส)  มีเหตุสำคัญเกิดแก่หญิง  หรือโดยพฤติการณ์ที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบทำให้ฝ่ายชายไม่สมควร  หรือไม่อาจสมรสกับหญิงเช่นว่า  หญิงคู่หมั้นไปร่วมประเวณีกับชายอื่น  หรือหญิงเป็นโรคติดต่อย่างร้ายแรงเป็นต้น  จึงจะเป็นเหตุให้ฝ่ายชายมีสิทธิเรียกร้องสินสอดคืนได้

บิดามารดาจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์

ถาม  บิดามารดาจะทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้หรือไม่  และมีกรณีใดบ้างที่บิดามารดาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้?

ตอบ  การจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์  บิดามารดาสามารถกระทำได้เสมอแต่ต้องจัดการทรัพย์สินนั้นด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ  เนื่องจากการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์มีผลกระทบต่อผู้เยาว์  กฎหมายจึงกำหนดให้นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้  บิดามารดาจะกระทำได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  อาทิ

          (๑) ขายแลกเปลี่ยนขายฝากให้เช่าซื้อจำนองปลดจำนองหรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
           (๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
           (๓) ก่อตั้งภาระจำยอมสิทธิอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินสิทธิเก็บกินภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
           (๔) จำหน่ายไปทั้งหมด หรือ บางส่วน ซึ่ง สิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือ สิทธิเรียกร้อง ที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
           (๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
           (๖) ก่อข้อผูกพันใดๆที่มุ่งให้เกิดผล ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
           (๗) ให้กู้ยืมเงิน
           (๘) ให้โดยเสน่หาเว้นแต่ จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะเพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
            (๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันหรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
            (๑๐) ประกันโดยประการใดๆอันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็น ผู้รับชำระหนี้ ของ บุคคลอื่น หรือแทน บุคคลอื่น
            (๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
- ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือ พันธบัตร ที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน
- รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรกแต่ จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินกึ่งของราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น
- ฝากประจำในธนาคาร ที่ได้ตั้งขึ้น โดยกฎหมาย หรือที่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบกิจการ ในราชอาณาจักร
           (๑๒) ประนีประนอมยอมความ
           (๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย