วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

เหตุฟ้องหย่า

ถาม  สามีภริยาเมื่อจดทะเบียนสมรสกันแล้ว  หากประสงค์ที่จะหย่าขาดกับอีกฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายนั้นไม่ยินยอมที่จะหย่า  คู่สามีภริยาฝ่ายที่ต้องการหย่ากับอีกฝ่ายหนึ่งจะทำการฟ้องหย่าได้หรือไม่อย่างไร? 
ตอบ  การฟ้องหย่าเพราะอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่าให้นั้น  คู่สามีภริยาที่มีความประสงค์จะหย่าขาดกับอีกฝ่ายหนึ่ง  ต้องได้รับความเสียหายถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายดังต่อไปนี้  ศาลจึงจะพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันได้
ประการแรก  สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู  หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้  หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
ประการที่สอง  สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว  ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่  ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป  หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
ประการที่สาม  สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งทั้งนี้ต้องเป็นการร้ายแรง
ประการที่สี่  สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
ประการที่ห้า  สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดให้จำคุก  และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด  หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น  และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้ อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความเสียหาย  หรือเดือดร้อนเกินควร
ประการที่หก  สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี  หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี
ประการที่เจ็ด  สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  หรือไปจากภูมิลำเนา  หรือถิ่นที่อยู่ เป็นเวลาเกินสามปี  โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
ประการที่แปด  สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร  หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้น ถึงขนาดที่ อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร  ในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะ  และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
ประการที่เก้า  สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี  และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้  กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
ประการที่สิบ  สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้ เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ
ประการที่สิบเอ็ด  สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง  อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง  และ โรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
ประการที่สิบสอง  สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

สิ้นสุดสมรสด้วย “การหย่า”

        
            เมื่อชีวิตสมรสแตกสลายสามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หรือทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไปอีกแล้ว  โดยทั่วๆไปย่อมเป็นที่แน่นอนว่าความรักความสัมพันธ์อันดีต่อกันก็จะต้องเสื่อมทรามลงไม่สามารถกลับคืนมาได้ดังเดิม  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๑๔  และมาตรา  ๑๕๑๖  จึงเปิดโอกาสให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเสียในระหว่างสมรสถึงแม้ว่าการหย่านั้นจะทำให้เกิดความขมขื่นโศกเศร้าเสียใจแก่สามีภริยาก็ตาม  แต่ก็ยังดีกว่าการทรมานร่างกายและจิตใจของสามีภริยาสองฝ่ายไปตลอดชีวิตทั้งๆที่หมดรักกันแล้ว   
            บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์การหย่าไว้ให้สามีภริยาเลือกที่จะใช้สิทธิหย่าด้วยกันถึงสองแบบ  แบบแรก  หย่าโดยความยินยอมของสามีภริยาทั้งสองฝ่าย  แบบที่สอง  หย่าโดยคำพิพากษา
            การหย่าโดยความยินยอมนั้น  เพียงแต่สามีภริยาทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนรู้เห็นก็เป็นอันใช้ได้  และการหย่านี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนแล้ว
            ส่วนการหย่าโดยคำพิพากษานั้นต้องมีเหตุหย่าตามกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้  ศาลจึงจะพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันได้  เหตุฟ้องหย่าดังกล่าวก็ได้แก่
๑)      สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู  หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้  หรือมีชู้  หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
๒)   สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว  ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่  ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป  หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
๓)    สามีหรือภริยาทำร้าย  หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ  หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งทั้งนี้ต้องเป็นการร้ายแรง
๔)    สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี
๕)   สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษา ถึงที่สุดให้จำคุก  และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด  หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น  และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้ อีกฝ่ายหนึ่ง  ได้รับความเสียหาย  หรือเดือดร้อนเกินควร
๖)     สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี  หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี
๗)   สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  หรือไปจากภูมิลำเนา  หรือถิ่นที่อยู่ เป็นเวลาเกินสามปี  โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
๘)    สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร  หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ถ้าการกระทำนั้น ถึงขนาดที่ อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร  ในเมื่อเอาสภาพ  ฐานะ  และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
๙)     สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี  และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้  กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
๑๐)            สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้ เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ
๑๑)            สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง  อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง  และ โรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
๑๒)  สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล 

การหย่าทั้งสองแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  จะมีได้ก็แต่สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรส
กันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  และจะเลือกหย่าแบบใดก็ได้มีผลสมบูรณ์เป็นการหย่าตามกฎหมายเหมือนกัน  หากเป็นการหย่าด้วยความสมัครใจของสามีภริยาทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ยุ่งยากนัก  เพียงสามีภริยาไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียนก็เป็นอันเลิกเป็นผัวเมียกันตามกฎหมายนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป  แต่ถ้าหากสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจที่จะหย่ากับอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว  อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องใช้สิทธิทางศาลฟ้องบังคับให้อีกฝ่ายหย่าขาดกับตนตามเหตุหย่าข้อใดข้อหนึ่งในสิบสองข้อ  ก็เป็นอันเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันได้  และจะมีผลเป็นการหย่าก็ต่อเมื่อคำพิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดแล้ว

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

“ป้า” ขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์

            ท่านผู้อ่านครับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์นั้นจะมีได้ก็แต่เฉพาะบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  บุคคลอื่นๆจะไม่มีสิทธิที่จะใช้อำนาจปกครองบุตรนี้แทนบิดามารดาได้  สิทธิที่ว่านี้ก็คือ  สิทธิในการที่จะกำหนดที่อยู่ของผู้เยาว์  ทำโทษตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน  ให้ทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป  หรือเรียกผู้เยาว์คืนจากบุคคลอื่นที่กักตัวไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   
สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนก็จะนำเอาเรื่องของ  “ป้า”  ที่อยากจะขอเป็นผู้ปกครองหลานซึ่งยังเป็นผู้เยาว์มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันว่าจริงๆแล้วป้าจะมีสิทธิเป็นผู้ปกครองหลานได้หรือไม่อย่างไร  ปัญหานี้ศาลฎีกาก็ได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า  ผู้เยาว์เป็นบุตรของนายวาทิตกับผู้คัดค้าน(มารดาผู้เยาว์)  ต่อมานายวาทิตกับผู้คัดค้านได้หย่าขาดจากกันโดยมีข้อตกลงว่า  ให้ผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของนายวาทิตหลังจากนั้นนายวาทิตได้ถึงแก่ความตาย  ป้าจึงขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แทนผู้ตายโดยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์  ดังนี้ท่านผู้อ่านว่า  ป้ามีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แทนนายวาทิต(บิดา)ที่ตายไปแล้วได้หรือไม่ในขณะที่มารดาของผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่
เรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอของป้า  ป้ายื่นฎีกาศาลฎีกาบอกว่า  ประการแรก   เมื่อนายวาทิตตายอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์กลับมาเป็นของผู้คัดค้านผู้เป็นมารดา  ประการที่สอง  เมื่ออำนาจปกครองกลับมาอยู่กับมารดาโดยอัตโนมัติแล้ว  ไม่ถือว่าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา  หรือเป็นกรณีที่บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง  ป้าจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่กล่าวมาเห็นได้ว่า  ป้าไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์  แม้จะมีข้อตกลงในขณะจดทะเบียนหย่าว่า  ให้นายวาทิตเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม  เพราะเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น  มิใช่กรณีที่มารดาถูกถอนอำนาจปกครอง  หรือไม่มีมารดา  ดังนั้น  หนทางแก้ไขที่จะให้ป้าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้ก็มีอยู่ด้วยกันสองกรณี  กรณีแรก  ป้าต้องรอให้มารดาของผู้เยาว์ถึงแก่ความตายไปอีกคนก่อนแล้วจึงยื่นคำร้องขอต่อศาล  กรณีที่สอง  ป้าต้องรอให้มารดาผู้เยาว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ถูกถอนอำนาจปกครองไปก่อนแล้วจึงยื่นคำร้องขอต่อศาล  และหากป้าปฏิบัติตามสองกรณีข้างต้นแล้ว  ป้าก็จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลและศาลต้องมีคำสั่งให้ป้าเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ครับ

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

สัญญา “ก่อนและระหว่างสมรส”

            ชายหญิงที่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา  แต่กลัวว่าทรัพย์สินของตนเองที่มีมาแต่เดิมจะตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยอิทธิพลของความรัก  หรือด้วยเพราะเหตุผลประการใดๆก็ตาม  ฝ่ายที่มีทรัพย์สินอยู่มากกว่า  หรือที่เรียกว่ารวยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็อาจจะทำสัญญากันก่อนที่จะทำการจดทะเบียนสมรสกับอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้  ซึ่งสัญญาที่ว่านี้เราเรียกว่า  “สัญญาก่อนสมรส”  สัญญาก่อนสมรสนี้คู่สามีภริยาทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่าจะจัดการกันอย่างไรบ้าง
            โดยหลักการแล้วสัญญาก่อนสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนสมรส  พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส  มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะก็คือใช้บังคับไม่ได้  สัญญาก่อนสมรสจึงเป็นทางออกของคนที่ร่ำรวยที่ไม่อยากให้ทรัพย์สินของตนเองสูญหายไปกับคู่สามีหรือภริยาของตนที่อาจจะคิดไม่ซื่อในภายหลัง  ซึ่งกฎหมายก็ได้กำหนดหาทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการทรัพย์สินในอนาคตไว้  โดยให้คู่สามีภริยานั้นสามารถที่จะทำสัญญากันไว้ก่อนสมรสว่า  ทรัพย์ใดเป็นของใคร  ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการ  และใครจะได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นส่วนข้อกำหนดในสัญญาก่อนสมรสนี้  คู่สามีภริยาสามารถที่จะกำหนดอย่างไรก็ได้ตามใจชอบแต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้นนะครับ  ท่านผู้อ่านท่านใดที่มีทรัพย์สินมากเมื่อได้อ่านแล้วเรื่องนี้แล้วก็คงจะเกิดความสบายใจขึ้นไม่ต้องกลัวว่า  สามีหรือภริยาจะเอาทรัพย์สินของตนเองไปใช้  หรือกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะหลอกลวงแต่งานกับตนเพื่อประโยชน์ทางด้านทรัพย์สิน
            ดังนั้น  การทำสัญญาก่อนสมรสไว้จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า  เพราะว่าบางท่านอาจมีทรัพย์สินมากมายเป็นหมื่นล้านแสนล้านก่อนที่จะมาอยู่กินเป็นสามีภริยากับอีกฝ่ายหนึ่ง  และหากเกิดปัญหาในการแบ่งทรัพย์สินกันคู่สามีภริยาก็สามารถที่จะทำการแบ่งปันทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยาได้ง่ายขึ้น  ส่วนข้อความในสัญญานั้นอาจเขียนกำหนดไว้ว่า  ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดได้มาให้เป็นของฝ่ายนั้นแต่ฝ่ายเดียวไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนหรือรายได้จาการประกอบกิจการ  อันนี้ก็สามารถที่จะทำสัญญาก่อนสมรสได้เช่นกัน
            เมื่อกฎหมายอนุญาตให้คู่สามีภริยาทำสัญญาก่อนสมรสได้แล้วกฎหมายยังอนุญาตให้คู่สามีภรรยาทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันในระหว่างสมรสได้อีกครับ  แต่การทำสัญญาระหว่างสมรสนั้น  มีข้อเสียอยู่ว่า  คู่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถขอยกเลิกได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน  หรือภายในหนึ่งปีหลังจากขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้  ส่วนสัญญาก่อนสมรสนั้นจะเลิกกันเองไม่ได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลครับ
            การทำสัญญาก่อนสมรส  และสัญญาระหว่างสมรสนั้นจะไม่กระทบกระเทือนต่อบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริต ก็คือบุคคลภายนอกต้องไม่ทราบว่ามีสัญญาดังกล่าวอยู่ก่อน  และหากรู้ก็คงไม่เข้าทำสัญญากับคู่สามีภริยานั้น  ฉบับนี้ผู้เขียนก็มีตัวอย่างการทำสัญญาระหว่างสมรสอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว 
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายแดงกับนางเหลืองเป็นสามีภริยากันภายหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว  วันที่  ๒๖ มิถุนายน  ๒๕๔๑  นายแดงกับนางเหลืองได้ทำสัญญากันในระหว่างสมรสเพื่อแบ่งสินสมรสกันโดยนายแดงตกลงให้ที่ดิน    แปลง  แก่นางเหลือง  และไม่ขอเกี่ยวข้องกับที่ดิน    แปลง  นี้  ต่อมาวันที่ ๗  กรกฎาคม  ๒๕๔๒  นายแดงได้ทำหนังสือให้ความยินยอมให้นางเหลืองทำนิติกรรมใดๆในที่ดิน    แปลงได้ตามความประสงค์และไม่ขอยกเลิกตลอดไป  ครั้นเมื่อวันที่ ๙  กันยายน  ๒๕๔๒  นางเหลืองได้โอนที่ดินให้บุตรทั้งหมด  นายแดงจึงบอกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับนางเหลือ  ในวันที่ ๘  สิงหาคม  ๒๕๔๔ 
จากข้อเท็จจริงข้างต้น  นายแดงสามารถยกเลิกสัญญาระหว่างสมรสได้หรือไม่  และบุตรจะต้องคืนที่ดินให้แก่นางเหลืองและนายแดงตามเดิมที่เป็นอยู่ไหม
            ศาลฎีกาบอกว่า  นางเหลืองได้ยกที่ดิน    แปลงให้แก่บุตรตั้งแต่ในขณะที่นางเหลืองยังมีสิทธิตามข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินกัน  ซึ่งขณะนั้นยังไม่ถูกบอกล้าง  ผลของการบอกเลิกสัญญาของนายแดงที่บอกเลิกภายหลังที่ทำสัญญานั้นยังคงไม่ถูกบอกล้าง จึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุตรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับทรัพย์สินนั้น
เรื่องนี้ก็สรุปได้ว่า นายแดงบอกเลิกสัญญาในระหว่างสมรสได้  แต่ไม่มีผลย้อนหลังกลับไปให้กระทบกระเทือนบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต  ก็คือ  ผู้ที่ได้รับทรัพย์โดยสุจริตนั่นเอง  ส่วนทางแก้ของนายแดงนั้น  นายแดงต้องบอกเลิกสัญญาในระหว่างสมรสก่อนการโอนที่ดินของนางเหลืองให้แก่บุตร  หรือต้องไม่ทำสัญญาระหว่างสมรสเพราะการจัดการสินสมรสทั้งนางเหลืองและนายแดงต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน  ดังนี้นางเหลืองก็ไม่มีสิทธิที่จะโอนที่ดินให้แก่บุตรได้
             
           

สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น

ถาม  ชายหญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้หรือไม่อย่างไร?
ตอบ  ชายหญิงเมื่อทำการหมั้นแล้วกฎหมายก็ให้สิทธิทั้งสองฝ่ายในการบอกเลิกสัญญาหมั้นได้หากมีเหตุดังต่อไปนี้เกิดขึ้น
๑)      มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิง  ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้  และให้หญิงคืนของหมั้นให้แก่ชาย
๒)   มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น  ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชาย  หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย

ค่าทดแทน "กรณีผิดสัญญาหมั้น"

ถาม   เมื่อทำการหมั้นแล้วถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายที่ผิดสัญญาได้หรือไม่อย่างไรบ้าง?
ตอบ  เมื่อชายหญิงหมั้นแล้วถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น  อีกฝ่ายหนึ่งสามารถเรียกค่าทดแทนดังต่อไปนี้ได้
๑)      ความเสียหายต่อกาย  หรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิง
๒)   ความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดา มารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่าย  หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริต  และตามสมควร
๓)    ความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน  หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ  หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ผู้เยาว์ทำการหมั้น

ถาม  ชายและหญิงที่เป็นผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้หรือไม่อย่างไรบ้าง? 
ตอบ  ชายและหญิงจะทำการหมั้นได้นั้นจะต้องมีอายุ  ๑๗  ปีบริบูรณ์แล้ว  และจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้ด้วย
๑)      บิดาและมารดาในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
๒)   บิดาหรือมารดา  ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย  หรือถูกถอนอำนาจปกครอง  หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม  หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากบิดาหรือมารดาได้
๓)    ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
๔)    ผู้ปกครองในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมได้ตามข้อ ๑)  ถึงข้อ ๓)  หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

ค่าทดแทนจากสามี (กรณีมีหญิงอื่น)

            เรื่องนี้ท่านผู้อ่านที่เป็นชายต้องระมัดระวังฟังไว้  เพราะหากไม่มั่นคงซื่อตรงต่อภริยาอันเป็นที่รักแล้วก็อาจถูกภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนได้  โดยเฉพาะท่านชายที่นิยมมีเมียหลายคนต้องสุ่มเสี่ยงอาจถูกภริยาหลวงฟ้องเอาได้  เหตุเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องมีหนึ่งสามีหนึ่งภริยา  เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องมีหนึ่งเดียวอย่างนี้  แต่เรากลับไปฝ่าฝืนผลที่ตามมาเราก็อาจได้รับโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา  ทางแพ่งอาจถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาตนเอง  ส่วนทางอาญาอาจถูกฟ้องดำเนินคดีฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ. ๒๕๕๐  เช่นเคยฉบับนี้เราก็มีข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องจริงซึ่งศาลสูงได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน
            ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายหลายภริยาเป็นฝ่ายผิดที่ไปมีหญิงอื่นเป็นภริยาอีกคนหนึ่งทั้งที่ตนเองมีนางรักเดียวเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว  นายหลายภริยาเลยถูกนางรักเดียวฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทน  (กรณีที่นายหลายภริยามีไปมีหญิงอื่นเป็นภริยา)  โดยนางรักเดียวได้เรียกค่าทดแทนจากนายหลายภริยาเป็นเงินจำนวน  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  เพราะทำให้นางรักเดียวต้องอับอาย  ทำให้เพื่อนและคนรู้จักคิดว่า  นางรักเดียวเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีทิ้งร้างไป
            เรื่องนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้นายหลายภริยากับนางรักเดียวหย่าขาดจากกัน  และให้นายหลายภริยาจ่ายค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาบอกว่า  ค่าทดแทนจำนวน  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  นางรักเดียวไม่นำสืบให้เห็นได้ว่า  เพราะเหตุใดจึงเสียหายถึง  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  ศาลเลยกำหนดตามฐานานุรูปของนางรักเดียวและนายหลายภริยา  รวมทั้งพฤติการณ์แห่งคดี  โดยให้นายหลายภริยาชำระเงินค่าทดแทนจากการกระทำผิดของนายหลายภริยา  จำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๙๘/๒๕๕๒)
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ว่า  ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถเรียกค่าทดแทนเอากับสามีตนเองได้  หากสามีเป็นฝ่ายผิดไปมีภริยาน้อย  และค่าทดแทนจากการที่สามีไปมีภริยาน้อยซึ่งทำให้ภริยาหลวงอับอาย  ขายหน้า  เสียชื่อเสียงเพราะถูกสามีสวมเขานั้น  เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันนี้ศาลได้กำหนดค่าทดแทนไว้สูงมากถึง  ๕๐๐,๐๐๐  บาท  ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพื่อปรามพวกที่นิยมมีหลายเมีย