วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แย่งที่ดินมีใบจอง (น.ส.๒)

           ท่านผู้อ่านครับ  ใบจอง(น.ส.๒)  คือ  หนังสือแสดงการยอมให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว  เมื่อรัฐอนุญาตแล้วก็จะมีเงื่อนไขบังคับว่า  ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จับจองจะโอนให้แก่กันมิได้  เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก  ที่ดินตามใบจองจึงไม่ได้ตกเป็นสิทธิของผู้ที่ได้รับใบจองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามใบจองแต่อย่างใด  ที่ดินตามใบจองจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ  ประชาชนเป็นเพียงผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ทำประโยชน์ในที่ดินชั่วคราว  เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพเท่านั้น  เว้นแต่ทางราชการได้เปลี่ยนใบจอง(น.ส.๒)เป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน
            อย่างไรก็ตามเมื่อราษฎรได้รับอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวแล้ว  ปัญหาก็ยังมีตามมาก็คือ  ราษฎรบางคนได้แย่งการครอบครองที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากรัฐระหว่างกันเอง  การแย่งการครอบครองที่ดินที่มีใบจอง(น.ส.๒)นี้ราษฎรจะสามารถแย่งการครอบครองได้หรือไม่เรื่องนี้ศาลสูงได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
            ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายดำได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจากรัฐชั่วคราวตามใบจอง  ต่อมานายดำถึงแก่ความตาย  หลังจากที่นายดำถึงแก่ความตายแล้ว  ภริยาและบุตรของนายดำยังคงครอบครองที่ดินอยู่  นายโลภได้เข้ามาแย่งการครอบครองที่ดิน  โดยเข้ามาไถนาปลูกข้าวในที่ดินที่ภริยาและบุตรนายดำครอบครองอยู่   ครั้นเมื่อภริยาและบุตรนายดำแจ้งให้นายโลภออกไปจากที่ดินนายโลภก็ไม่ยอมไป  ภริยาของนายดำเลยฟ้องนายโลภต่อศาลให้ห้ามนายโลภและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดิน  และให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของตนและให้นายโลภชดใช้เงินปีละ  ๑๒,๐๐๐  บาท  นับแต่วันฟ้อง
            ศาลชั้นต้น  พิพากษาให้ที่ดินเป็นของภริยานายดำ  ห้ามนายโลภเกี่ยวข้อง  ให้ชดใช้ค่าเสียหาย  ค่าฤชาธรรมเนียม  และค่าทนายความแทนภริยานายดำ
            ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
            ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  นายโลภไม่สามารถแย่งการครองครองที่ดินของภริยานายดำได้  ด้วยเหตุผลที่ว่า  ที่ดินตามใบจอง(น.ส.๒)ยังเป็นที่ดินของรัฐ  รัฐยอมให้ราษฎรครองครองที่ดินชั่วคราวเท่านั้น  เมื่อที่ดินเป็นของรัฐนายโลภจึงไม่อาจแย่งการครอบครองที่ดินตามใบจองได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  ที่ดินที่มีใบจอง(น.ส.๒)ไม่สามารถแย่งการครอบครองได้  เพราะที่ดินยังคงเป็นของรัฐ  ดังนั้นหากท่านผู้อ่านท่านใดที่ได้รับใบจองจากรัฐแล้ว  แต่ถูกบุคคลอื่นแย่งที่ดินที่ได้รับอนุญาตนั้นไปก็สามารถฟ้องบังคับคดีให้ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เหมือนเช่นคดีนี้

           

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เข้ายึดคลองสาธารณะ

            การเข้าไปยึดคลองสาธารณะนั้นมีความผิดหรือไม่  หากมีโทษที่จะได้รับมีมากน้อยเพียงใด  ฉบับนี้เราก็นำข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องจริงซึ่งศาลสูงได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันครับ
            ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายหนึ่งและนายสองเป็นเจ้าของที่ดินทิศเหนือจดลำกระโดงสาธารณะประโยชน์  ทิศใต้จดทางสารธารณะประโยชน์  ทิศตะวันออกจดที่ดินของผู้อื่น  ทิศใต้จดแม่น้ำนครชัยศรี  นายหนึ่งได้ปักเสาคอนกรีตจำนวน    ต้น  ปิดขวางคลองทางด้านทิศใต้ของที่ดินนายหนึ่งกับนายสอง  จุดแรก    ต้น  จุดที่สองห่างจากจุดแรกยาวตามลำคลอง  ๗๕.๓๐  เมตร  อีกสามต้นทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรี
            เรื่องนี้ศาลชั้นต้นบอกว่า  การกระทำของนายหนึ่งที่ใช้เสาคอนกรีตปิดขวางคลองสาธารณะมีความผิด  พิพากษาจำคุก  ๒ เดือน  ปรับ  ๔,๐๐๐  บาท
            ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง  เพราะเห็นว่าการกระทำของนายหนึ่งไม่เป็นความผิด
            โจทก์ฎีกา
            ศาลฎีกาบอกว่า  การกระทำของนายหนึ่งเป็นความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ  ซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  และฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้  และมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์   พิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายหนึ่ง    เดือน  ปรับ  ๔,๐๐๐  บาท  เมื่อไม่ปรากฏว่านายหนึ่งเคยต้องโทษมาก่อน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด    ปี
             คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ว่า  การกระทำของนายหนึ่งที่ปักเสาคอนกรีตปิดขวางคลองทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาในคลองเพื่อออกสู่แม่น้ำนครชัยศรีได้นั้นเป็นความผิดตามกฎหมายนายหนึ่งไม่สามารถที่จะกระทำได้โดยชอบ

           

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา


            หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาคือหนี้ประเภทใด  เมื่อเป็นหนี้ร่วมแล้วต้องร่วมรับผิดกันอย่างไร  ท่านผู้อ่านครับหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยานั้นจะเกิดขึ้นได้  สามีและภริยาในที่นี้ต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  คือ  ต้องจดทะเบียนสมรสกันก่อนแล้วจึงมาก่อหนี้ร่วมกัน  จึงจะเกิดเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  ส่วนการร่วมกันนั้นก็อาจจะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  หรือเป็นหนี้ที่สามี  หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  เช่นว่า 
๑)      หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน  หนี้ที่เกี่ยวกับการจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  หนี้ที่เกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูบุตร ภริยา หรือสามี  หนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว  หรือหนี้ที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
๒)    หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
๓)    หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
๔)    หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว  แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
หนี้ที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นหนี้ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  หรือเป็นหนี้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นในระหว่างสมรสนั้น  ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน  กฎหมายบอกว่า  การชำระหนี้ต้องชำระเอาจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย  แต่ถ้าหากสามีหรือภริยาต้องรับผิดในหนี้นั้นเป็นการส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ตนก่อไว้ก่อนสมรส  หรือในระหว่างสมรส  กฎหมายบอกว่า  ให้เอาชำระจากสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน  หากไม่พอชำระหนี้จึงจะให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นขอฝ่ายนั้นก็คือฝ่ายที่ก่อหนี้นั่นเอง
ผู้เขียนมีคดีตัวอย่างอยู่เรื่องหนึ่งน่าสนใจมากและศาลได้มีคำพิพากษาไว้แล้ว  เกี่ยวกับหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา  เรื่องนี้สามีไปกู้ยืมเงินเองเพียงฝ่ายเดียว  แต่ภริยากลับไปเจรจาขอผัดผ่อนการชำระหนี้กับสามีด้วย  จึงถือว่าภริยารู้เห็นและยินยอมให้สามีกู้ยืมเงินอันเป็นการให้สัตยาบัน 
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายแดงจดทะเบียนสมรสกับนางชมพู  ทั้งสองมีบ้านเป็นสินสมรสอยู่    หลัง  นายแดงได้เป็นหนี้เงินกู้นายหลากสี  และศาลได้มีคำพิพากษาให้นายแดงชำระหนี้นายหลากสีเป็นเงินจำนวน  ๖๐๐,๐๐๐  บาท  ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนี้ที่นายแดงได้ก่อนั้นเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  โดยในขณะที่นายแดงไปกู้ยืมเงินจากนายหลากสีนั้น นางชมพูไม่ได้ร่วมกู้  หรือร่วมอยู่ด้วยในวันทำสัญญา  แต่นางชมพูได้เคยพานายแดงไปบ้านของนายหลากสีหลายครั้งเพื่อขอเจรจาผัดผ่อนหนี้กับนายหลากสี  เมื่อนายแดงไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา  นายหลากสีจึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านของนายแดงออกขายทอดตลาด
นางชมพูภริยาของนายแดงทราบจึงยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ตนเป็นภริยาของนายแดงและเป็นเจ้าของรวมบ้านที่ถูกยึด  ไม่มีส่วนรู้เห็นในหนี้สินของนายแดง  ขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านให้นางชมพูกึ่งหนึ่ง  นายหลากสีจึงได้ยื่นคำคัดค้านว่า  นางชมพูมิใช่ภริยาของนายแดง  บ้านที่ยึดนั้นเป็นบ้านของนายแดง  นางชมพูทราบดีอยู่แล้วว่านายแดงเป็นหนี้เงินกู้ยืมของนายหลากสี  นางชมพูจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วน
เรื่องนี้  ศาลบอกว่า  ประการแรก  นายแดงกู้เงินนายหลากสีในระหว่างที่นายแดงกับนางนางชมพูเป็นสามีภริยากัน  หนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นหนี้ในระหว่างสมรส
ประการที่สอง  ศาลบอกว่า  เมื่อเป็นหนี้ในระหว่างสมรสแล้ว  แม้นว่าในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน  นางชมพูจะไม่อยู่ด้วยและไม่ปรากฏว่า  นายแดงนำเงินกู้มาใช้ในกิจกรใดในครอบครัว  แต่เมื่อนางชมพูขับรถพานายแดงซึ่งเป็นสามี  ไปเจรจาขอผัดผ่อนการชำระหนี้เมื่อนายหลากสีทวงถามหลายครั้ง  พฤติการณ์ของนางชมพูจึงถือได้ว่า  รู้เห็นและยินยอมให้นายแดงกู้ยืมเงินนายหลากสี  และถือได้ว่านางชมพูได้ให้สัตยาบันหนี้ของนายแดงผู้เป็นสามีแล้ว
คำพิพากษาของศาลข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  หนี้เงินกู้ของนายแดงเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่นางชมพูได้ให้สัตยาบันแล้ว  นางชมพูต้องร่วมรับผิดกับนายแดงร่วมกัน  ก็คือ  ต้องชำระหนี้จากสินสมรส  คือ บ้านที่ถูกยึดขายทอดตลาด  โดยนางชมพูไม่มีสิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นของตน

ค่าทดแทนจากสามี (กรณีมีหญิงอื่น)

            เรื่องนี้ท่านผู้อ่านที่เป็นชายต้องระมัดระวังฟังไว้  เพราะหากไม่มั่นคงซื่อตรงต่อภริยาอันเป็นที่รักแล้วก็อาจถูกภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนได้  โดยเฉพาะท่านชายที่นิยมมีเมียหลายคนต้องสุ่มเสี่ยงอาจถูกภริยาหลวงฟ้องเอาได้  เหตุเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องมีหนึ่งสามีหนึ่งภริยา  เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องมีหนึ่งเดียวอย่างนี้  แต่เรากลับไปฝ่าฝืนผลที่ตามมาเราก็อาจได้รับโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา  ทางแพ่งอาจถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาตนเอง  ส่วนทางอาญาอาจถูกฟ้องดำเนินคดีฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ. ๒๕๕๐  เช่นเคยฉบับนี้เราก็มีข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเรื่องจริงซึ่งศาลสูงได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน
            ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  นายหลายภริยาเป็นฝ่ายผิดที่ไปมีหญิงอื่นเป็นภริยาอีกคนหนึ่งทั้งที่ตนเองมีนางรักเดียวเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว  นายหลายภริยาเลยถูกนางรักเดียวฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทน  (กรณีที่นายหลายภริยามีไปมีหญิงอื่นเป็นภริยา)  โดยนางรักเดียวได้เรียกค่าทดแทนจากนายหลายภริยาเป็นเงินจำนวน  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  เพราะทำให้นางรักเดียวต้องอับอาย  ทำให้เพื่อนและคนรู้จักคิดว่า  นางรักเดียวเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีทิ้งร้างไป
            เรื่องนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษาให้นายหลายภริยากับนางรักเดียวหย่าขาดจากกัน  และให้นายหลายภริยาจ่ายค่าทดแทนเป็นเงินจำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาบอกว่า  ค่าทดแทนจำนวน  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  นางรักเดียวไม่นำสืบให้เห็นได้ว่า  เพราะเหตุใดจึงเสียหายถึง  ๕,๐๐๐,๐๐๐  บาท  ศาลเลยกำหนดตามฐานานุรูปของนางรักเดียวและนายหลายภริยา  รวมทั้งพฤติการณ์แห่งคดี  โดยให้นายหลายภริยาชำระเงินค่าทดแทนจากการกระทำผิดของนายหลายภริยา  จำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๙๘/๒๕๕๒) 
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นเห็นได้ว่า  ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถเรียกค่าทดแทนเอากับสามีตนเองได้  หากสามีเป็นฝ่ายผิดไปมีภริยาน้อย  และค่าทดแทนจากการที่สามีไปมีภริยาน้อยซึ่งทำให้ภริยาหลวงอับอาย  ขายหน้า  เสียชื่อเสียงเพราะถูกสามีสวมเขานั้น  เห็นได้ชัดว่าปัจจุบันนี้ศาลได้กำหนดค่าทดแทนไว้สูงมากถึง  ๕๐๐,๐๐๐  บาท  ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพื่อปรามพวกที่นิยมมีหลายเมีย
           

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฆ่าเพื่อป้องกันเกินกว่าเหตุ


           
            โดยหลักกฎหมายแล้วเรามีสิทธิที่จะปกป้องตนเอง  หรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้าย  หากเป็นภัยที่ใกล้จะถึงแต่ต้องกระทำให้พอสมควรแก่เหตุจึงจะไม่มีความผิด  แต่ถ้าหากเรากระทำการป้องกันไปแล้วและเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ  แน่นอนว่าการกระทำของเราย่อมมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย  สำหรับการป้องกันเกินกว่าเหตุนี้ก็มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว  และเราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่นได้
            ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  ผู้ตายขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านของนายเหี้ยม  เพื่อบังคับนางสาวสวย  ซึ่งเป็นบุตรนายเหี้ยม   และเคยเป็นภริยาของผู้ตายให้ไปอยู่กินด้วยกัน  นายเหี้ยมได้พูดจาห้ามปราม  แต่ผู้ตายไม่ฟังลงจากรถแล้วถืออาวุธมีดยาว  ๑๒  นิ้ว  เดินไปหานายเหี้ยม  นายเหี้ยมเลยวิ่งไปบนบ้านหยิบปืนยาวกึ่งอัตโนมัติขนาด  .๒๒  ซึ่งเป็นอาวุธที่นายเหี้ยมได้รับอนุญาตให้มีและใช้  ซึ่งเป็นอาวุธที่ปกติใช้ยิงนกหรือสัตว์ขนากเล็ก  เพื่อห้ามปรามมิให้ผู้ตายทำร้ายและทำลายทรัพย์สินนายเหี้ยม  และบังคับให้นางสาวสวยไปอยู่กับผู้ตาย  นางสาวสวยได้โอบกอดผู้ตายไว้เพื่อมิให้ผู้ตายทำร้ายนายเหี้ยม  แต่ผู้ตายได้สะบัดตัวหลุด  และเดินถือมีดเข้าหานายเหี้ยมเพื่อทำร้ายโดยห่างประมาณ    วา  นายเหี้ยมเลยยิงไปที่ผู้ตายหนึ่งนัด  แต่ผู้ตายยังเดินมาหานายเหี้ยมอีกเลยยิงไปอีกสองนัดติดต่อกัน  ผู้ตายล้มลงหลังจากนั้นผู้ตายนอนหงาย  นายเหี้ยมเดินเข้าไปยิงซ้ำอีก    นัด  ผู้ตายถึงแก่ความตาย
            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  นายเหี้ยมมีความผิด  จำคุก  ๑๕  ปี  แต่นายเหี้ยมสารภาพ  มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง  จำคุก    ปี    เดือน  ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุน          นายเหี้ยมอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  นายเหี้ยมกระทำการป้องกันตนเองพอสมควรแก่เหตุ  จึงไม่มีความผิด  ให้ยกฟ้อง
            ฝ่ายผู้ตายเลยยื่นฎีกา 
            ศาลฎีกาพิพากษาว่า  ประการแรก  ศาลบอกว่า  บ้านและบริเวณบ้านเป็นเคหสถานไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ผู้อยู่อาศัยไม่จำต้องหลบหนีจากเคหสถานของตนที่มีสิทธิอยู่อาศัย  หากต้องหนีแล้วเสรีภาพของนายเหี้ยมก็จะถูกกระทบกระเทือน
            ประการที่สอง  ศาลบอกว่า  ผู้ตายเดินเข้าหานายเหี้ยมห่าง    วา  โดยมีอาวุธยาวถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  มีสิทธิป้องกันได้  เพราะหากปล่อยให้ผู้ตายมาใกล้กว่านี้  นายเหี้ยมย่อมขัดข้องในการยิงป้องกันตัว
            ประการที่สาม  ศาลบอกว่า  นายเหี้ยมยิงไปที่ผู้ตายหนึ่งนัด  แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาหานายเหี้ยมอีก  การยิงของนายเหี้ยมไปอีก    นัด  ผู้ตายล้มลง  จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุในภาวะและวิสัยเช่นนั้น
            ประการที่สี่  ศาลบอกว่า  การที่ผู้ตายล้มลงนอนหงายแล้ว  นายเหี้ยมเดินเข้าไปยิงผู้ตายอีก    นัด  จนถึงแก่ความตายเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ  พิพากษาจำคุกนายเหี้ยมมีกำหนด    ปี  ริบอาวุธปืนและปลอก  
            คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น  เราสามารถนำไปใช้เพื่อการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นได้  คือ  ยิงเพียง    นัด  หากยังเข้ามาเพื่อจะทำร้ายเราอีกก็สามารถยิงได้อีก    นัด  จึงจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีความผิด  แต่เมื่อยิงไปแล้ว    นัด  ผู้ตายล้มลงนอนหงายแล้ว  หากเราไปยิงซ้ำอีก  ไม่ว่า    หรือ    นัด  หรือมากกว่านั้น  ก็จะเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุเพราะเขาไม่มีทางสู้แล้วยังไปยิงซ้ำ  จึงเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าเหตุ  ผู้กระทำต้องรับโทษเหมือนเช่นในคดีนี้


วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เหตุฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม

ถาม การฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรมจะต้องมีเหตุตามกฎหมายอย่างไรบ้าง?
ตอบ  ๑) ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง  หรือถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควร
๒)  ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการรีอย่างร้ายแรง  หรือบุตรบุญธรรมหมิ่นประมาท  หรือเหยียดหยามคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างร้ายแรง 
๓)   ฝ่ายหนึ่งประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือบุพการี  หรือคู่สมรส  จนเกิดอันตราย  ต่อกาย  หรือจิตใจอย่างร้ายแรง 
๔)  ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
 ๕)  ฝ่ายหนึ่งทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี 
๖)  ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำคุกเกิน    ปี  โดยมิใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาท 
๗)  ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดาเป็นเหตุให้เกิด  หรืออาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบุตรบุญธรรม 
๘)   ผู้รับบุตรบุญธรรมถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วน หรือว่าทั้งหมด  อันเนื่องมาจากเป็นผู้ที่ไม่สมควรที่จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม 

การเลิกรับบุตรบุญธรรม

ถาม  ผู้รับบุตรบุญธรรม  และบุตรบุญธรรมจะเลิกการรับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่?
ตอบ  ผู้รับบุตรบุญธรรม  และบุตรบุญธรรมหากประสงค์เลิกรับบุตรบุญธรรมก็สามารถที่จะกระทำได้ดังนี้คือ
๑)      ผู้รับบุตรบุญธรรม  กับบุตรบุญธรรมตกลงเลิกกันเอง
๒)   บุตรบุญธรรมสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม
๓)    ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือบุตรบุญธรรม  ฟ้องเลิกการรับบุตรบุญธรรม

สิทธิและหน้าที่ระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรม

ถาม   สิทธิและหน้าที่ระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมมีอย่างไรบ้าง?
ตอบ  ๑)  บุตรบุญธรรมมีสิทธิใช้นามสกุล  รับมรดก  ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากผู้รับบุตรบุญธรรมในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์  รวมทั้งมีสิทธิที่จะฟ้องผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาได้
            ๒)  บิดามารดาโดยกำเนิดจะหมดอำนาจปกครองบุตรและมีสิทธิเยี่ยมเยียนบุตรได้ตามสมควร  ส่วนบุตรจะไม่สูญสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาโดยกำเนิดของตนไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการใช้สกุลเดิม  รับมรดก  และหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาโดยกำเนิด
            ๓)  ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรม  เว้นแต่บุตรบุญธรรมจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้

การรับผู้ใหญ่เป็นบุตรบุญธรรม

ถาม  การรับผู้ใหญ่เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่อย่างไรบ้าง? 
ตอบ  การรับผู้ใหญ่เป็นบุตรบุญธรรมไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้ใหญ่อีกเพราะบรรลุนิติภาวะแล้ว    แต่ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส  คู่สมรสต้องให้ความยินยอมด้วย

จดทะเบียนรับคนตายเป็นบุตร

การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนั้น  บิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายต้องได้รับความยินยอมจากเด็ก  และมารดาเด็กด้วยจึงจะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้  หากเด็กหรือมารดาเด็กคัดค้าน  หรือไม่ให้ความยินยอม  หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้  การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรของบิดาต้องมีคำพิพากษาของศาล  ปัญหาจึงมีตามมาว่า  หากเด็กและมารดาเด็กได้เสียชีวิตไปก่อนที่บิดาจะร้องขอต่อศาลให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของตน  การตายของเด็กและมารดาเด็กนี้จะถือได้ว่า  เป็นกรณีที่ไม่อาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมายที่ให้สิทธิบิดาร้องขอต่อศาลได้หรือไม่นั้น  เรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
          ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  ผู้ร้อง(บิดา)กับนางดวง คำสุวรรณ อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 7 คน มีจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ คำสุวรรณ เป็นบุตรคนที่หกของผู้ร้อง ต่อมานางดวงและจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ถึงแก่ความตาย ทางราชการจะจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ผู้ร้องเป็นทายาทเพียงคนเดียวที่จ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ได้ทำหนังสือระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ ผู้ร้องไปติดต่อขอรับเงินบำเหน็จตกทอดที่หน่วยงานต้นสังกัด แต่มีเหตุขัดข้องโดยกรมบัญชีกลางแจ้งว่าผู้ร้องมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นายทะเบียนก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะไม่มีผู้ใดมาให้ความยินยอม ด้วยเหตุขัดข้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จดทะเบียนรับรองจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ คำสุวรรณ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง โดยขอให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของภริยาและบุตรผู้ร้อง ซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมตามกฎหมายได้
          ศาลชั้นต้น (ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา) มีคำสั่งว่า ตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องในฐานะบิดาจะจดทะเบียนรับผู้ตายเป็นบุตร ซึ่งไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลได้ ให้ยกคำร้อง
          ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "เห็นว่านางดวงมารดาของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์และจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์ผู้เป็นบุตรถึงแก่ความตายแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่บุคคลทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่ผู้ร้องขอจดทะเบียนรับจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม ผู้ร้องไม่อาจกระทำได้โดยวิธีอื่นนอกจากดำเนินการทางศาล ในเมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนดังกล่าวไม่มีผู้ใดยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ผู้ร้องก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาว่าจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์เป็นบุตรได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิทางศาลและยกคำร้องขอนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น"
          พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแล้วดำเนินการต่อไปตามรูปคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๗๓/๒๕๔๕)
คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า   แม้นางดวง  คำสุวรรณ  มารดาของจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  และจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  ผู้เป็นบุตรได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว  ก็เป็นกรณีที่ผู้ตายทั้งสองไม่อาจให้ความยินยอมในการที่บิดาจะขอจดทะเบียนรับจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1548 วรรคสาม  เมื่อบุคคลที่จะต้องให้ความยินยอมในการขอจดทะเบียนไม่มีผู้ใดมีชีวิตอยู่  ผู้ร้อง(บิดา)จึงชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศษลพิพากษาว่าจ่าสิบตำรวจไชยณรงค์  คำสุวรรณ  เป็นบุตรตนได้

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

ถาม  การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือไม่อย่างไรบ้าง? 
ตอบ  การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้เยาว์  กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตาย  หรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาซึ่งยังมีอำนาจปกครองอยู่  หากไม่มีบิดามารดาผู้ให้ความยินยอม  หรือมีแต่บิดาหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุผล  ขัดต่อความเจริญหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพของผู้เยาว์  จะต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรม
ถาม   ผู้เยาว์ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมต้องให้ความยินยอมด้วยในการรับบุตรบุญธรรมหรือไม่?
ตอบ  สำหรับตัวผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า  ๑๕  ปีไม่ต้องให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม  เหตุเพราะยังไม่รู้เดียงสาบิดามารดาสามารถที่จะตัดสินใจแทนได้  แต่ถ้าหากผู้เยาว์อายุ  ๑๕  ปีแล้ว  ผู้เยาว์นั้นจะต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
ถาม  การรับผู้เยาว์ที่เป็นผู้ถูกทอดทิ้งเป็นบุตรบุญธรรม  และอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของทางราชการต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือไม่?
ตอบ  กรณีผู้เยาว์เป็นเด็กกำพร้าถูกทอดทิ้งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กของทางราชการ  ผู้อำนวยการสถานสงเคราะห์เด็กมีอำนาจให้ความยินยอมในการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมได้  โดยไม่จำต้องให้บิดามารดาของผู้เยาว์มาให้ความยินยอม
ถาม ผู้เยาว์จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลหลายคนได้หรือไม่?
ตอบ  ผู้เยาว์จะเป็นบุตรบุญบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะเดียวกันไม่ได้  เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม   
ถาม    ผู้รับบุตรบุญธรรมที่มีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสในการรับบุตรบุญธรรมหรือไม่อย่างไร?
ตอบ  ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม  ถ้ามีคู่สมรสก็จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย  หากคู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทน
ถาม  การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต้องมีการทดลองเลี้ยงหรือไม่?
ตอบ  การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะต้องมีการทดลองเลี้ยงเป็นเวลาไม่น้อยกว่า    เดือน  เว้นแต่ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นทวด  ปู่ ย่า  ตา  ยาย  ลุง  ป้า น้า  อา  พี่  หรือผู้ปกครองผู้เยาว์  หากผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้รับอนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว  ต้องไปจะทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่ภายใน  6  เดือน  มิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์  ตามพ.ร.บ.  การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

คุณสมบัติผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม

ถาม  ผู้รับบุตรบุญธรรม  และบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุเท่าใด  และถ้าเป็นโสดจะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ไหม?
ตอบ   ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า  ๒๕  ปี  และจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย  ๑๕  ปี  ส่วนบุตรบุญธรรมจะไม่จำกัดว่าอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม  เพียงแต่ต้องมีอายุอ่อนกว่าผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างน้อย  ๑๕  ปี  ส่วนผู้ที่จะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม  และบุตรบุญธรรมนั้น  จะเป็นโสด หรือจดทะเบียนสมรสและมีบุตรอยู่แล้วก็เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม  และบุตรบุญธรรมได้เช่นกันไม่ต้องห้าม

หน้าที่เลี้ยงดูบุตรปฏิเสธไม่ได้

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตรผู้เยาว์นั้น  กฎหมายกำหนดไว้ให้บุตรผู้เยาว์สามารถที่จะเรียกร้องเอาจากบิดามารดาได้  หากไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู  หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูแต่ไม่เพียงพอแก่อัตภาพ  ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นี้  บิดาหรือมารดาจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างเหตุว่า  บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยกดอกผลของสินสมรสของตนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว  และไม่ต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีกต่อไปได้หรือไม่นั้น  ปัญหานี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  จำเลยแยกกันอยู่กับโจทก์ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2542  แต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังคงอยู่อาศัยกับโจทก์ตลอดมา  โดยจำเลยยินยอมมอบดอกผลค่าเช่าห้องในอาคารชุด  ซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์  เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง  ต่อมาจำเลยได้ขาดการติดต่อกับโจทก์และไม่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง
           โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ  หรือสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาหรือเทียบเท่า  หรือชั้นสูงสุด
          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า   เมื่อปี  2542  โจทก์และจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันและบิดาโจทก์ได้ทำร้ายร่างกายจำเลย  โจทก์และจำเลยจึงตกลงแยกกันอยู่โดยได้ทำหนังสือเรื่องทรัพย์สินระหว่างสมรสไว้  จำเลยมีรายจ่ายและภาระหนี้สินจำนวนมาก  ไม่อยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้  โจทก์เป็นผู้มีฐานะทางการเงินและฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยมาก สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้จากค่าเช่า  ซึ่งเป็นดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกัน  โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นคดีนี้  เพราะโจทก์และจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกัน
           ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ  ๑๕,๐๐๐  บาท  ต่อคน  นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ
          จำเลยอุทธรณ์          
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่โจทก์เดือนละ  7,500  บาท  ต่อบุตรผู้เยาว์แต่ละคน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ
          โจทก์และจำเลยฎีกา
          โจทก์ฎีกาว่า  ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาเดือนละ  ๓๐,๐๐๐  บาท  เหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์อ้าง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๖๔  มาตัดทอนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ  ๑๕,๐๐๐  บาท  เป็นการไม่ชอบ  ส่วนจำเลยฎีกาว่า  จำเลยมีรายจ่ายและหนี้สินมากว่ารายรับ  และได้ยกรายได้จากสินสมรสในส่วนขอจำเลยให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดุบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ประการแรก  ป.พ.พ.  มาตรา  1546  วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า  “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์...”  บทบัญญัติดังกล่าว  กำหนดให้บิดาและมารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธไม่ได้
            ประการที่สอง  การกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตามป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๙๘/๒๕๓๘  ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้  ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี  และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า  ต่างฝ่ายต่างมีรายรับและรายจ่ายของตนเอง  โดยโจทก์มีรายรับจากค่าเช่าห้องในอาคารชุด  และต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่พอนำค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายได้   ส่วนจำเลยมีรายได้จากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และจากการสอนพิเศษ  แต่มีรายจ่ายส่วนตัวและหนี้สิน  เห็นว่า  ค่าใช้จ่ายในส่วนของจำเลยเกิดจากจำเลยแยกไปอยู่ต่างหากเอง  และหนี้สินที่จำเลยก่อขึ้นก็ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว  แม้โจทก์และจำเลยจะมีภาระในการอุปการะเลี้ยงดูบุพการีด้วยก็ตามก็เชื่อว่าโจทก์และจำเลยยังมีความสามารถที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาวทั้งสองไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
           ประการที่สาม  การที่จำเลยอ้างว่า  ค่าเช่าห้องในอาคารชุดเป็นดอกผลของสินสมรส  เมื่อจำเลยมอบให้โจทก์  เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง เท่ากับจำเลยได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองแล้วนั้น  เห็นว่า  ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของจำเลยในฐานะบิดาที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย  จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๖๘/๒๕๕๒)
            คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์นั้น  บิดาหรือมารดาไม่สามารถอ้างเหตุที่ตนเองได้ให้ดอกผลส่วนแบ่งของสินสมรสเป็นค่าอุปการเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์  เพื่อมายกเว้นหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายได้