วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เบียดบังทรัพย์หลังจดทะเบียนหย่า

เมื่อมีเหตุทำให้คู่สมรสอยู่ร่วมกันไม่ได้ชีวิตสมรสก็จะสิ้นสุดลงด้วยการหย่าขาดจากกันปัญหาจึงมีตามมาว่า  เมื่อกฎหมายมิได้บังคับให้สามีภริยาต้องแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสด้วยในขณะจดทะเบียนหย่า  หากสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่งกันไปขายโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ทราบ  และไม่ได้รับความยินยอม  สัญญาซื้อขายที่ฝ่ายนั้นกระทำลงไปจะมีผลบังคับได้เพียงใด  และผู้ที่ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่นั้น  ปัญหานี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า  โจทก์กับจำเลยที่ ๑  จดทะเบียนสมรสเมื่อปี  ๒๕๑๓  ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑  ระหว่างปี ๒๕๑๔ ถึง ๒๕๑๖   จำเลยที่ ๑ เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี  ๒๕๒๕  และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด  ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท. เมื่อปี ๒๕๒๖  และใส่ชื่อจำเลยที่ ๑  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว  จากนั้นจำเลยที่ ๑  กับโจทก์  ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน  โดยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่ายกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสาม  แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาที่ตนได้รับ  ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินและบ้านพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ไม่ทราบและมิได้ยินยอมด้วย
           โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและบ้านระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินและบ้านกลับคืนให้จำเลยที่ ๑ และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๑๒๒ ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
          จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ  
          จำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์          
          ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  ประการแรก  บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑  ที่ตกลงยกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ วรรคหนึ่ง แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา ๓๗๔ วรรคสอง กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์กับจำเลยที่ ๑  คนละครึ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ซึ่งหากฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ ๑  นำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยไปขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
          ประการที่สอง  ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ระหว่างปี ๒๕๑๔  ถึง  ๒๕๑๖ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕  เดิม มาตรา ๑๔๖๖  เพราะการให้มิได้แสดงว่าให้ไว้เป็นสินส่วนตัวตามมาตรา ๑๔๖๔(๓)  และกรณีเป็นการยกให้ก่อนปี ๒๕๑๙ จึงไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙ บังคับ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี ๒๕๒๕  และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท.  เมื่อปี ๒๕๒๖  แม้จะใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๔๗๔() ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. ๒๕๑๙
           ประการที่สาม  ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๒ จะทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง แต่ยังคงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๓๖๑ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๕๖๑/๒๕๔๔)
            คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า  ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ ๑  เมื่อมิได้แบ่งกันในขณะจดทะเบียนหย่าต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์  จำเลยที่ ๑  นำสินสมรสไปขายโดยที่โจทก์ไม่ทราบและไม่ยินยอมสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีผลบังคับเฉพาะกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ ๑  ฝ่ายที่ขายไปเท่านั้นไม่ผูกพันในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้ที่ไม่ทราบและไม่ได้ยินยอมด้วย และแม้นข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ ๒  ผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม  จำเลยที่ ๒  ก็ไม่อาจอ้างความสุจริตของตนเป็นข้อต่อสู้มิให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้  ดังนั้นการที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จึงชอบด้วยเหตุผลและเป็นธรรมแล้ว





ค่าทดแทนจากหญิงอื่น

ถาม  ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีได้หรือไม่?
ตอบ  ได้  เพราะตาม ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๒๓  วรรคสอง  มิได้มีเงื่อนไขว่า  ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นนั้นได้

ค่าเลี้ยงชีพระหว่างสามีภริยา

ถาม  สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย  หากประสงค์หย่าขาดจากกันมีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ในกรณีใดบ้าง?
ตอบ  ๑)  กรณีเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องยากจนลง  เพราะไม่มีรายได้เพียงพอจากทรัพย์สิน  หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
                        ๒)  กรณีเหตุหย่าขาดจากกันเป็นเพราะอีกฝ่ายวิกลจริต  หรือมีโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
                        ๓)  กรณีคู่หย่าตกลงชำระค่าเลี้ยงชีพกันเอง

ถาม สามีหรือภริยาฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพหากจดทะเบียนสมรสใหม่ค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นสุดไปหรือไม่?
ตอบ  สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพของสามีหรือภริยาฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไปตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๕๒๘

ฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

ถาม  หญิงมีสิทธิฟ้องชายให้รับเด็กที่เกิดกับตนเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายได้ในกรณีใดบ้าง?
ตอบ     ๑)  เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา  ฉุดคร่า  หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดา  โดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
                        ๒)  เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว  หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
                        ๓)  เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่า  เด็กนั้นเป็นบุตรของตน
                        ๔)  เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่า  เด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่า  บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิด  หรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
๕)  เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
๖)  เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้  และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า  เด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
๗)  เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา

ถาม  เด็กเกิดจากหญิง(มารดา)ที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชายจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นบิดาได้ในกรณีใดบ้าง?
            ตอบ      มี    กรณี  คือ
๑)  บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง
                        ๒)  บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร
                        ๓)  ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย