วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้อควรรู้เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว

               เดิมปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว  รัฐมิได้มุ่งที่จะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด  หรือปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  แต่มีเจตนาที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ  โดยกำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติไว้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ข้อ  ๕๘๓  ซึ่งให้พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจในการไกล่เกลี่ย  พยายามชี้แจงตักเตือนให้เรื่องยุติ  กรณีสามีภริยากล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำร้ายร่างกาย   หากมิได้ใช้อาวุธหรือบาดเจ็บไม่ถึงสาหัส  หรือเหตุมิได้เกิดในถนนหลวง  ประกอบกับการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยมิได้มีเจตนาชั่วร้าย   หรือแม้การทำร้ายร่างกายกันระหว่างสามีภริยานั้นจะได้ใช้อาวุธ  หรือบาดเจ็บสาหัส  หรือเหตุเกิดในถนนหลวง    เว้นแต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่เข็ดหลาบและมีพฤติการณ์ว่า  จะเกิดการทำร้ายรุนแรงยิ่งขึ้นก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทุกรายนั้น  การนำมาตรการทางอาญามาใช้บังคับกับการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจึงยังไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวได้ 
                เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มีผลใช้บังคับแล้ว  ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย  จิตใจ  หรือสุขภาพ  หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย  จิตใจ  หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว  หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ  แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท  ต้องถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  โดยไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  หรือกฎหมายอื่น
                อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มิได้ให้คำจำกัดความของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวไว้ว่าหมายความรวมถึงบุคคลใดบ้าง  บุคคลภายนอกครอบครัวจะกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวต่อบุคคลในครอบครัวได้หรือม่เพียงใดนั้นก็มิได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่าให้หมายความรวมถึงบุคคลภายนอกครอบครัวด้วย  แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลกรอบของการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้แล้วเห็นได้ว่า  มีเจตนารมณ์คุ้มครองบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ  และโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นนั้นต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลในครอบครัวซึ่งก็ได้แก่  คู่สมรส  คู่สมรสเดิม  ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  บุตร  บุตรบุญธรรม  สมาชิกในครอบครัว  รวมทั้งบุคคลใดที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน  อันเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประทุษร้ายระหว่างบุคคลทั่วไป  บุคคลภายนอกครอบครัวจึงไม่น่าจะเป็นผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้ได้  
มีข้อสังเกตว่า  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  บทนิยามมิได้กำหนดให้   ชู้    เป็นบุคคลในครอบครัว  แต่กำหนดให้  ผู้ที่อยู่กิน  หรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  เป็นบุคคลในครอบครัวซึ่งคำว่า  อยู่กิน  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2542  ให้ความหมายไว้ว่า  ดำรงชีวิตฉันผัวเมีย  ส่วนคำว่า  ชู้  หมายถึง  คู่รัก  บุคคลที่เป็นที่รัก  ผู้ล่วงประเวณี  การล่วงประเวณี  ชายที่ร่วมประเวณีด้วยเมียเขา  เรียกว่า  เป็นชู้  หญิงที่ยังมีสามีอยู่แล้วร่วมประเวณีกับชายอื่น  เรียกว่า  มีชู้  เรียกชายหรือหญิงที่ใฝ่ในทางชู้สาวว่า  เจ้าชู้   มิได้หมายความถึงผู้ที่อยู่กินด้วย  ชู้  จึงไม่น่าจะเป็นบุคคลในครอบครัวอันต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัตินี้  แต่ถ้าหากเป็นกรณีสามีที่จดทะเบียนสมรส  หรือไม่จดทะเบียนสมรสกับภริยาสมัครใจดำรงชีวิตฉันผัวเมียกับหญิงอื่นเลี้ยงดูอย่างภรรยา  หรือที่เรียกว่ามี  เมียน้อย  แล้ว    หญิงอื่นผู้อยู่กินกับสามีน่าจะถือได้ว่าเป็นผู้อยู่กินตามบทนิยามนี้ด้วย   สามีผู้อยู่กินกับหญิงอื่นหากกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวก็น่าจะต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว  ส่วนหญิงอื่นผู้อยู่กิน  และภริยาจะรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ต่อกันอย่างไรนั้น  ต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวต่อกันหรือไม่  และหากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำฝ่ายนั้นก็น่าจะต้องรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน 
                เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  และการกระทำนั้นเป็นความรุนแรงในครอบครัว  พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  พ.ศ.  ๒๕๕๐  มาตรา ๕  วรรคแรก  ได้กำหนดให้  ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  หรือผู้ที่พบเห็น  หรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้  การแจ้งอาจกระทำโดยวาจา  เป็นหนังสือ  ทางโทรศัพท์  วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  หรือวิธีการอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  ในกรณีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี  พนักงานสอบสวนต้องจัดให้ร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  หรือหากไม่อยู่ในวิสัย  หรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ด้วยตนเอง  ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ร้องทุกข์แทน  พนักงานสอบสวนจะอ้างระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ข้อ  ๕๘๓  ซึ่งมิใช่กฎหมายมาชี้แจง  ตักเตือน  ให้เรื่องยุติมิได้
                ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัตินี้  กำหนดให้ความผิดฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความได้  หากมิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หรือมิได้ร้องทุกข์  ภายในสามเดือนนับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้  ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ  และหากการกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๙๕  รวมอยู่ด้วย  ก็ให้ความผิดอาญาดังกล่าวนี้เป็นความผิดอันยอมความได้เช่นเดียวกัน  แต่การยอมความ  การถอนคำร้องทุกข์  หรือการถอนฟ้อง  พนักงานสอบสวน  หรือศาล  ต้องจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นเป็นเงื่อนไขก่อนการยอมความ  การถอนคำร้องทุกข์  หรือการถอนฟ้อง  หากได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขครบถ้วนแล้วจึงให้มีการยอมความ ถอนคำร้องทุกข์  หรือถอนฟ้อง  แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยฝ่าฝืน  หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข  ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นดำเนินการต่อไป
                  การที่รัฐบัญญัติให้ความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญา  โดยวางหลักเกณฑ์ให้คู่กรณีสามารถยอมความกันได้นั้นก็เพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข  อันเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดปกป้องสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง  สงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส  และการอยู่ร่วมกันของบุคคลในครอบครัว  ให้บุคคลในครอบครัวมีความปรองดองเคารพสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน  โดยคำนึงถึงความสงบสุข  การอยู่ร่วมกันของบุคคลในครอบครัวเป็นสำคัญ  จึงเป็นหลักการแก้ไขปัญหาครอบครัวซึ่งมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนได้ถูกต้อง  และแน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้ความรุนแรงในครอบครัวไทยจะต้องลดลงในที่สุด